ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.34-34.54 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการปรับสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทแข็งค่าทะลุโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้น ท่ามกลางความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม นี้ ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) สู่โซน 2,690-2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อีกทั้ง บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On)

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันเพิ่มเติม จากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสราว 84% ที่ขึ้นดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 0.50% ได้ในการประชุมเดือนมกราคมนี้

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ จากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) เดือนมกราคม รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ หุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Netflix

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) รวมถึง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของทั้งอังกฤษและยูโรโซน ในเดือนมกราคม โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOE มีโอกาสราว 58% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง หรือ 75bps ในปีนี้ ส่วน ECB อาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้ง หรือ 100bps (ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสถึง 99%)

▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งเรามองว่า BOJ อาจเลือกที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ไปก่อนเพื่อรอประเมินทิศทางนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงรอลุ้นผลการเจรจาค่าจ้างญี่ปุ่นในช่วงต้นปี ทว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่และผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 0.50% และยังเชื่อว่า BOJ อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีก 1 ครั้ง ในปีนี้ สู่ระดับ 0.75% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญญี่ปุ่น อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนมกราคม ยอดการส่งออกและนำเข้า รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนธันวาคม ส่วนทางฝั่งมาเลเซีย เรามองว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ซึ่งมีความเหมาะสมต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ทั้งนี้ BNM อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้บ้าง หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่รุนแรง

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน ซึ่งอาจช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจกดดันการค้าโลกและส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนของไทยได้ สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลง หรือ อย่างน้อยแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่ เงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวรับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวใน Sideways ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม แต่ก็มีความเสี่ยงผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน และจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์เสี่ยงผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ขึ้นกับ แนวโน้มการดำเนินนโยบายของรัฐบาล Trump 2.0 และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก นอกจากนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.15-35.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.55 บาท/ดอลลาร์