กรมทรัพย์สินทางปัญญาหารือร่วมกับนายกสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย (นายสืบสิริ ทวีผล) และคณะ บูรณาการความร่วมมือเพิ่มประสิทธิภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งประเด็นต่างๆ ในการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในการดำเนินภารกิจของกรมฯ ในทุกๆ ด้าน ซึ่งปัจจุบันกรมฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นก่อนเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมการยกร่างกฎหมายการจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง เพื่อตอบรับนโยบาย soft power ของรัฐบาลเพื่อให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์มีความโปร่งใส สะดวกแก่ผู้ใช้งาน และมีมาตรฐานเท่าเทียม กับต่างประเทศ”
นางสาวนุสรา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการหารือประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสำคัญนอกเหนือจากการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือการเสนอร่าง พ.ร.บ. คือ การทำ Data mining การปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงได้เชิญผู้แทนสมาคมเข้าร่วมสรรหาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อจัดทำจรรยาบรรณตัวแทนสิทธิบัตร และหลักเกณฑ์การต่ออายุการขึ้นทะเบียนตัวแทนสิทธิบัตร ตลอดจนสอบถามเรื่องการปรับเปลี่ยนมาใช้อากรแสตมป์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp) ทดแทนการติดอากรแสตมป์ในเอกสารหนังสือมอบอำนาจประกอบ คำขอต่างๆ สำหรับคำขอจดทะเบียนที่ยื่นผ่านระบบ E- Filing ของกรมฯ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการติดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้อง และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ตัวแทนสิทธิบัตรในการยื่นคำขอจดทะเบียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ท้ายนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้กล่าวขอบคุณผู้แทนสมาคมทรัพย์สินทางปัญญา แห่งประเทศไทยที่ได้ให้ความร่วมมือกับกรมฯ เป็นอย่างดีมาโดยตลอดในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ต่อการปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มแข็ง รัดกุม และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่าจะได้ร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Ecosystem) ของประเทศให้เป็นประโยชน์ ต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้นต่อไป