‘กรมทะเล’ นำเครือข่ายนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รุ่นที่ 1 สำรวจปะการัง – ระบบนิเวศทางทะเล เกาะครก เกาะสาก จ.ชลบุรี

นายอุกกฤต สตภูมินทร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า วันนี้ (19 มกราคม 2568) กรมทรัพยากรทางและชายฝั่ง (ทช.) โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (กอท.) นำคณะลงพื้นที่ดำน้ำสำรวจทรัพยากรปะการังและระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ในพื้นที่ เกาะครก และเกาะสาก จังหวัดชลบุรี ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพนักดำน้ำเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในหลักสูตร “การดำน้ำเบื้องต้น” (Open water) รุ่นที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นำโดยนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายเผด็จ ลายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และนายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ครูฝึกดำน้ำ สื่อมวลชน ศิลปิน นักแสดง และผู้ที่สนใจ ร่วมลงพื้นที่ สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 19 มกราคม 2568 โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 3 ภาค ดังนี้ 1.ภาคทฤษฎีจัดอบรม ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรม ทช. 2.ภาคปฏิบัติจัดอบรม ณ สโมสรสระว่ายน้ำหมู่บ้านผาสุก ชอยพัฒนาการ 65 เขตสวนหลวงกรุงเทพมหานคร และ 3.ภาคทะเล จัดฝึกบริเวณเกาะล้าน เกาะครก เกาะสาก จังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงดังกล่าวดำเนินการภายใต้แผนงานพื้นฐานด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายเล็งเห็นถึงความสมบูรณ์ของปะการัง แหล่งหญ้าทะเล และระบบนิเวศทางทะเล โดยกรม ทช. ได้มีเป้าหมายดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการัง ไม่น้อยกว่า 540 ไร่ หรือจำนวน 865,000 กิ่ง และดำเนินการติดตั้งทุ่นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการพื้นที่แนวปะการังของประเทศไทย 16 จังหวัด รวม 35 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของกรม ทช. โดยสำนักงานบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 ได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูปะการังในพื้นที่รับผิดชอบ ภายได้โครงการฟื้นฟูปะการังแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วม และจะต้องมีการติดตั้งทุ่นจอดเรือ และทุ่นแสดงแนวเขตป้องกันการทิ้งสมอทำลายแนวปะการังทุกจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานกรม ทช. ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของกรม ทช. มีจำนวนจำกัด การดำเนินงานปลูกฟื้นฟูปะการัง การติดตั้งทุ่นจอดเรือ การสำรวจการเกาะติดตามวัสดุลงเกาะ การจัดวางปะการังเทียม ของหน่วยงานและสทช. 1 – 10 ที่ผ่านมาจำเป็นจะต้องอาศัยแรงงาน หรือการมีส่วนร่วมจากนักดำน้ำอาสาสมัคร จึงจะสามารถดำเนินการได้ตามจำนวนและแล้วเสร็จตามจำนวนเป้าหมาย ดังนั้น กรม ทช. จึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดำน้ำเบื้องต้น การดำน้ำลึก การดำน้ำแบบกู้ภัย ให้กับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของกรม ทช. ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของหน่วยงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ช่วยลดปัญหาข้อจำกัด การขาดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานและช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่าย อีกทั้งความปลอดภัยในการดำน้ำ เป็นการพัฒนาเพิ่มศักยภาพและเพิ่มจำนวนของอาสาสมัครเพื่อช่วยในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้อีกด้วย

จากการดำน้ำติดตามและสำรวจทรัพยากรปะการังและระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ในพื้นที่บริเวณ เกาะครก และเกาะสาก จังหวัดชลบุรี ภาพรวมพบปะการังหลากหลายชนิดมีความสมบูรณ์ เหมาะกับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดในทะเล เช่น ปลาการ์ตูน เต่าทะเล และในส่วนบริเวณหาดเกเร กรม ทช. ได้ดำเนินการย้ายปะการังมาปลูก โดยการนำเศษชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในพื้นที่มายึดติดให้มั่นคงด้วยการยึดกับอิฐบล็อค จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าปะการังที่ย้ายปลูกมีอัตรารอดสูงและเติบโตได้ดี แนวปะการังที่เคยเสื่อมโทรมมีความสมบูรณ์ดีมาก และมีการปกคลุมของปะการังมีชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยปะการังเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพของระบบนิเวศทางทะเล การอนุรักษ์ปะการังจึงมีความสำคัญต่อความสมดุลของธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมโลก นอกจากนี้ ตนได้ร่วมดำน้ำเก็บกู้เศษผ้าใบหลังคาเรือร่วมกับครูสอนดำน้ำ บริเวณ เกาะครก ซึ่งเป็นขยะทะเลชิ้นใหญ่ปกคลุมแนวปะการัง หากอยู่ในทะเลเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการัง

ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจดำน้ำติดตามและสำรวจทรัพยากรปะการังและระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ได้มีการมอบใบประกาศเกียรติบัตรสำหรับผู้ที่ผ่านหลักสูตร “การดำน้ำเบื้องต้น” (Open water) รุ่นที่ 1 จำนวน 20 ท่าน โดยทุกคนสามารถนำทักษะ ความรู้ในการดำน้ำเบื้องต้นไปใช้ให้ให้เกิดประโยชน์และถูกวิธี รวมถึงยังเป็นกำลังสำคัญหรือเครือข่ายช่วยปฏิบัติงานภารกิจใต้น้ำในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของกรม ทช. ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย “นายอุกกฤต รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย”