1.สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีอากาศเย็นถึงหนาว ในขณะที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้ตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนอง
คาดการณ์ : วันที่ 19-20 ม.ค. 68 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 75% ของความจุเก็บกัก (60,659 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 65% (36,445 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แจ้งเตือน : ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำช่วงวันที่ 11 – 21 มกราคม 2568
1. อิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและอาจไหลเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)
2. เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร
จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
5. ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 68 สทนช. ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำและนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ หวังสร้างผู้นำด้านน้ำในระดับชุมชนและท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามบริบทของพื้นที่ สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันภัยด้านน้ำในทุกมิติ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน
เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ประกอบกับหน่วยงานบริหารจัดการน้ำมีมากกว่า 40 หน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนในการขอรับจัดสรรงบประมาณ และการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ขาดเอกภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศโดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤติทั้งนี้ รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืนในทุกมิติ จึงได้ตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยมี สทนช. เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างบูรณาการ และกำหนดให้มีองค์กรจัดการน้ำ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติคือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ระดับลุ่มน้ำคือคณะกรรมการลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ.2566–2580) เป็นเครื่องมือหลักในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศ
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาหลักสูตรกลางเพื่อสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ให้กับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มผู้ใช้น้ำภาคส่วนต่างๆ ได้เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้านน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ