วันที่ 17 มกราคม 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการประชุมหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก กับนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวขนิษฐา โชติกวณิชย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เข้าร่วม ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ Soft Power ของไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติ และนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งปีนี้วธ.มุ่งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้วย 4 นโยบาย 3 แนวทาง 2 รูปแบบ สู่ 1 เป้าหมาย ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกมาเที่ยวในมิติด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยในส่วนของการเสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม จะมีการยกระดับการบริการของพิพิธภัณฑ์โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ หอสมุดแห่งชาติ และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักนั้น ล่าสุดได้หารือร่วมกับนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก ซึ่งแหล่งมรดกวัฒนธรรมเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการประกาศรายชื่อในบัญชีชั่วคราว (Tentative List) ในชื่อ “อนุสรณ์สถาน แหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา” เมื่อปี 2558 และได้เริ่มจัดทำร่างเอกสารนำเสนอเพื่อขึ้นบัญชีมรดกโลก (Draft nomination dossier) รวมทั้งมีการปรับปรุงเอกสารจนถึงปัจจุบัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมืองเชียงใหม่เปรียบเสมือนเมืองหลวงของล้านนา มีประวัติศาสตร์ย้อนไปได้ไม่ต่ำกว่า 730 ปี หลักฐานความเจริญรุ่งเรืองปรากฏให้เห็นเป็นวัดวาอารามและโบราณสถานมากมาย มีพระธาตุดอยสุเทพเป็นมิ่งเมืองศูนย์กลางแห่งศรัทธา คนเชียงใหม่ภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ และสืบทอดความเป็นคนเมืองจากรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย อีกทั้งประเพณี ผู้คน วัฒนธรรมเป็นเสน่ห์ ให้ผู้มาเยือนประทับใจไม่รู้ลืม
“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสำคัญต่อไปคือการจัดทำรายงานความโดดเด่นของเมืองเชียงใหม่ฉบับสมบูรณ์ตามเกณฑ์ของยูเนสโกเพื่อนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งทราบว่าจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งผลักดันให้เสร็จเร็ววันนี้ ทั้งนี้ หลังการร่วมหารือกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร และจังหวัดเชียงใหม่ จะร่วมกันผลักดันให้ร่างเอกสารนำเสนอเมืองเชียงใหม่ สู่มรดกโลกเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถนำเสนอต่อศูนย์มรดกโลกสากล ณ กรุงปารีส โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากทุกภาคส่วนและที่สำคัญที่สุดคือชาวเมืองเชียงใหม่ร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนจะสำเร็จได้อย่างราบรื่นแน่นอน” รมว.วธ. กล่าว
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีมรดกโลกทางวัฒนธรรมจำนวน 5 แหล่ง ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายในการผลักดันให้ทุกภูมิภาคของประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลก เพื่อเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จะนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก และจะได้เร่งผลักดันให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลกแห่งต่อไป เพื่อจะประกาศเกียรติภูมิของไทยบนเวทีโลก ที่สำคัญกว่านั้นยังตั้งเป้าหมายว่าจะประกาศขอบเขตการเป็นมรดกโลก ทั้งพื้นที่เมืองเชียงใหม่เดิม อันโดดเด่นไปด้วยโบราณสถานเช่น พระธาตุดอยสุเทพ วัดเจ็ดยอด วัดสวนดอก วัดพระสิงห์ วัดอุโมงค์ ฯลฯ และเป็นที่แน่นอนว่านอกจากชื่อเสียงของเมืองเชียงใหม่ที่จะไปสู่สายตาชาวโลกแล้ว การเป็นมรดกโลกจะทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่นำรายได้ และนำพาความอยู่ดีกินดีมาสู่ พ่อแม่พี่น้อง เป็นซอฟพาวเวอร์ที่แข็งแกร่งตามนโยบายของรัฐบาลอย่างแน่นอน นอกจากนั้นยังได้มอบให้กรมศิลปากรทำการศึกษาศักยภาพของโบราณสถานและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทั่วทุกภูมิภาค เพื่อผลักดันให้เกิดมรดกโลกแห่งใหม่ขึ้น ต่อไป และถือเป็นการยกระดับการบริการของพิพิธภัณฑ์โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผลักดันให้เศรษฐกิจวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากขึ้น