วันที่ 17 มกราคม 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด ผู้นำชุมชน ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับชมวีดิทัศน์ 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การแสดงทางวัฒนธรรม โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จากนั้นมอบโล่แก่ผู้แทน 10 ชุมชน รวมถึงเยี่ยมชมนิทรรศการ 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บริเวณหน้างาน
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขับเคลื่อนการดำเนินงาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาลผลักดันการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ด้วยการนำมิติทางวัฒนธรรมอัตลักษณ์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ มาสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย ให้เป็นกุญแจดอกสําคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติอย่างแท้จริง โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วธ.ได้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ซึ่งได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบระดับจังหวัดที่มีศักยภาพ ความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ ปีละ 10 ชุมชน พร้อมยกย่องเชิดชูเกียรติ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยนับถึงปัจจุบัน มีสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” 40 ชุมชน ทั่วประเทศ สำหรับ 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2567 ที่เข้ารับรางวัลในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ชุมชนบ้านชากแง้ว ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 2.ชุมชนวัดห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 3.ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 4.ชุมชนวัดพระธาตุแช่แห้ง (บ้านหนองเต่า) ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 5.ชุมชนหัวบ้าน (ถนนสู้ศึก) ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 6.ชุมชนบ้านทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 7.ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี 8.ชุมชนวัดศรีคุนเมือง (เชียงคาน) ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 9.ชุมชนวัดไพรพัฒนา ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และ10.ชุมชนเขมราษฎร์ธานี ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
“ทั้ง 10 ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชนเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและสอดคล้องกับ “4 นโยบาย – 3 แนวทาง – 2 รูปแบบ – 1 เป้าหมาย” ของกระทรวงวัฒนธรรมในการนำทุนทางวัฒนธรรม นำมาสร้างมูลค่า เศรษฐกิจชุมชนเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน รวมถึงยังเป็นชุมชนที่พร้อมจะเสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” ในพื้นที่ชุมชนของตัวเอง ซึ่งนับเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ให้ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ ร่วมมือกันผลักดันและยกระดับแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน ด้วยการรักษาสิ่งเดิม เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ จนเกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีเศรษฐกิจวัฒนธรรมที่ดี นับได้ว่าทั้ง 10 ชุมชนแห่งนี้ ล้วนเป็นชุมชนที่มีศักยภาพ และความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ ควรแก่การเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เป็นต้นแบบ ที่จะนำไปสู่การขยายผลความสำเร็จไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อันจะเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโต เข้มแข็ง อย่างยั่งยืนสืบต่อไป ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมุ่งหวังว่าการประกาศยกย่อง เชิดชูเกียรติ ในครั้งนี้ จะสร้างขวัญกำลังใจแก่ชุมชน และร่วมกันผลักดันให้ชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเหล่านี้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ นำไปสู่การยกระดับ Soft Power การท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมตามนโยบายของรัฐบาล ดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ท่องเที่ยวอัตลักษณ์ชุมชนของไทย ปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชนไปด้วยกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว