รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข Kick off ฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ให้กับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 จังหวัดมหาสารคาม เดินหน้าฉีดต่อเนื่องครอบคลุมเป้าหมายหญิงไทย 11 – 20 ปี รวม 28,076 คน ลดการป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคต พร้อมเสริมศักยภาพ อสม. มหาสารคาม 3,500 คน ให้จัดการสุขภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ถ่ายทอดความรู้ ช่วยให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
วันที่ 17 มกราคม 2568 ที่ จังหวัดมหาสารคาม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสุขภาพ ภายใต้แนวคิด คนไทยห่างไกล NCDs ด้วยกลไก อสม. พร้อมมอบชุดอุปกรณ์การทำงาน health station ให้กับตัวแทน อสม. และเปิดกิจกรรม Kick off ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV 9 สายพันธุ์ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอสม. ร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2568 ประเด็น “คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ” ได้มุ่งเน้นการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และโรคมะเร็ง ที่เป็นปัญสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูกที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของหญิงไทย ซึ่งป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV ได้มีการสานต่อโครงการฉีดวัคซีน HPV ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทยในอนาคต โดยจัดหาวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายกว่า 1 ล้านคน สำหรับการจัดกิจกรรมที่ โรงเรียนโกสุมวิทยาสรรค์ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในวันนี้ มีการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ให้กับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ของอำเภอโกสุมพิสัย 200 คน และจะดำเนินการจนครบกลุ่มป้าหมายทั้งจังหวัดรวม 28,076 คน แบ่งเป็น 1)หญิงไทย 11-20 ปี ที่เคยได้รับเข็มที่ 1 แล้ว จะฉีดวัคซีนชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ เข็มที่ 2 จำนวน 19,290 คน 2) นักเรียนหญิง ป.5 ปีการศึกษา 2567 ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน จะฉีดวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ จำนวน 3,871 ราย และ 3) หญิงไทย 11-20 ปี กลุ่มนอกเหนือจากนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2567 ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน จำนวน 4,915 ราย ซึ่งจะได้รับวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ เช่นกัน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรค NCDs มี อสม.เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน โดยปัจจุบัน อสม. ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน สามารถนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรตจากแป้งและน้ำตาลได้แล้ว จึงขับเคลื่อนงานต่อด้วยการ “สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน คนไทยห่างไกล NCDs” พัฒนาศักยภาพของ อสม. ในการถ่ายทอดความรู้เรื่องการนับคาร์บ การปรับพฤติกรรมสุขภาพให้กับประชาชน โดย อสม. 1 คน จะให้ความรู้ประชาชน 50 คน ซึ่งจะส่งผลให้มีคนไทย กว่า 50 ล้านคน เข้าใจเรื่องการนับคาร์บและการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งจะป้องกันโรค NCDs ได้มากถึงร้อยละ 80 ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ลดค่ายา ค่ารักษาพยาบาล และลดความสูญเสียก่อนวัยอันควร ถือเป็นวิธีการที่ทำให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคาม มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวานร่วมกับความดันโลหิตสูง รวม 113,971 คน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีอัตราป่วยตายด้วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งในการจัดประชุมเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสุขภาพ ภายใต้แนวคิดคนไทยห่างไกล NCDs ด้วยกลไก อสม. ครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพในการจัดการสุขภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย NCDs ส่งเสริมการบริโภคคาร์โบไฮเดรตโดยการนับคาร์บแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรค NCDs โดยมี อสม. ในจังหวัดมหาสารคามเข้าร่วมประชุมกว่า 3,500 คน