ภญ.วิลักษณ์ วังกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า อภ. ได้มีการดำเนินงานโครงการ “PLANTXGPO” ภายใต้แนวคิด GPO PLANT BASED MEDICINE มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของ อภ. และร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน ในการที่จะเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีงานนวัตกรรมด้านสมุนไพร อภ. ได้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดย แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย 1. หมวดยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสำคัญจากพืชเป็นหลัก (Plant based drugs and supplements) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ด้านการกีฬา อาทิ สเปรย์สมุนไพรที่มีส่วนผสมของไพลสำหรับพ่นเพื่อคลายกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหารสารสกัดขมิ้นชันสูตรเสริมความแข็งแรงของกระดูกและข้อ (Ca-Curmin) , ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงร่างกาย เป็นต้น 2. Plant based cosmetics ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Luminous botanic serum เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้สารสกัดจากสมุนไพรที่มีความสำคัญที่ช่วยบำรุงผิวและชะลอวัยจากธรรมชาตินานาชนิด อาทิ ขมิ้นชัน มะหาด ดอกโบตั๋น เกษรดอกบัวหลวง และใบบัวบก 3. Spa herbal products preparations ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ลูกประคบ และน้ำมันหอมระเหย
ภญ.วิลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า จากการมาดูงานในครั้งนี้เกิดจากองค์การฯ ได้ร่วมกันกับมูลนิธิกสิกรไทย ในการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช โดยองค์การฯ จะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุน การวิจัย เพื่อการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืชยา สนับสนุนข้อมูลด้าน วิชาการของพืชยา ตั้งแต่การปลูก การสกัด การควบคุมคุณภาพ การขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ การผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และการร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนอย่างยั่งยืน
ล่าสุดอภ. ได้เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้ชื่อ นันท์ จีพีโอ – โกลบิเน็กซ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสารสกัดขมิ้นชัน โดยใน 1 แคปซูล ประกอบไปด้วย สารสกัดขมิ้นชันเทียบเท่าสารเคอร์คูมินอยด์ 250 มิลลิกรัม มีสรรพคุณลดความรุนแรงของภาวะเครียดออกซิเดชัน และใช้เสริมการรักษาเพื่อลดความรุนแรงของภาวะเหล็กเกินและภาวะอักเสบ ในผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมีย ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะใช้วัตถุดิบขมิ้นชันที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยทางสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนในจังหวัดน่าน ปลูกพืชยา เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อไป คาดว่าจะสามารถออกสู่ตลาดได้ในเร็วๆนี้
ด้านนายอนันต์ ลาภสุขสถิต ประธานสถาบันเค อะโกร-อินโนเวท กล่าวว่า สถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2564 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการหาแนวทางการแก้ไข ‘ปัญหาป่าต้นน้ำของจังหวัดน่าน’ อย่างยั่งยืน มีเป้าหมายในการสร้างรายได้ต่อไร่ที่สูง ลดพื้นที่ในการเพาะปลูก พร้อมกับการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพื่อให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้ โดยการดำเนินงานทั้งหมดของสถาบันฯ ได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารกสิกรไทย สถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ได้มุ่งเป้าในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่สำหรับ ‘ยาจากพืช’ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มแบบทวีคูณให้กับผลผลิตทางการเกษตรอันจะนำมาสู่การคืนป่าต้นน้ำอันมีค่าของประเทศ โดยนำจุดแข็งของจังหวัดน่านที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในป่าส่วนที่ยังสมบูรณ์สูง เป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับบริษัทยาจากต่างประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรป ผนวกกับความเข้มแข็งของการแพทย์ไทยที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก และเป็นผู้นำในภูมิภาค CLMV ทางสถาบันฯจึงกำหนด “วนเกษตรพฤกษเภสัช” (Pharma-Agroforestry) เป็นยุทธศาสตร์หลักอันจะเป็น ยุทธศาสตร์บนความยั่งยืนที่จะแก้ปัญหาป่าน่าน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมทางพฤกษเภสัชจากการปลูกพืชให้เป็นยา