สทนช. ร่วมพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ เสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรผู้ใช้น้ำ ป้องกันภัย-สร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน

สทนช. และ บพท. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำและนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” หวังสร้างผู้นำด้านน้ำในระดับชุมชนและท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามบริบทของพื้นที่ สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันภัยด้านน้ำในทุกมิติ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน

วันที่ 16 มกราคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ และนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ระหว่าง สทนช. และ บพท. โดยมี ผู้บริหารสถาบันการศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ ภาคราชการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำหลากหลาย ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ อีกทั้งหน่วยงานบริหารจัดการน้ำมีมากกว่า 40 หน่วยงาน และอยู่ต่างกระทรวง กรม กอง ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไม่เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติ แต่ละหน่วยงานต่างแก้ไขปัญหาตามภาระหน้าที่ของตนเอง จนเกิดความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือและการขอรับจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงได้ตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยมี สทนช. เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างบูรณาการ และกำหนดให้มีองค์กรจัดการน้ำ 3 ระดับ คือ ระดับชาติคือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ระดับลุ่มน้ำคือคณะกรรมการลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566–2580) ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ และ 5.การบริหารจัดการ เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีเป้าหมายเป็นตัวชี้วัดเดียวกัน ทำให้การจัดทำงบประมาณไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งแผนแม่บทลุ่มน้ำ โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำและประชาชนในพื้นที่ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดทำ ซึ่งถ่ายทอดจากแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ที่ สทนช. และ กนช. กำหนดขึ้น เพื่อลงรายละเอียดตามบริบทของลุ่มน้ำนั้นๆ รวมทั้งแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่จะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ จึงจะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ยังมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก ทั้งการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลที่ยั่งยืน การเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ (Water Productivity) รวมทั้งกรอบปฏิญญาเซนได เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงของภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ ซึ่งจะเชื่อมโยงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ด้วย

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.น้ำและแผนแม่บทฯ น้ำ ที่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและทิศทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ แต่สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สภาพอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหนักเฉพาะจุด ภัยแล้งและไฟป่าที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์เอลนีโญ-ลานีญา และการแพร่ระบาดของโรค เช่น โควิด-19 ส่งผลให้แรงงานคืนถิ่นมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจำนวนมาก สทนช. จึงเร่งขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้เกิดความยั่งยืน โดยการเสริมสร้างการองค์ความรู้ด้านคุณภาพน้ำและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ที่ผ่านมา สทนช. ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในการดำเนินการหลักสูตรการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการนำต้นแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริมาขยายผล ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินการหลักสูตรการพัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภาพน้ำของชุมชน ยกระดับสู่การรับรองมาตรฐาน และร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ดำเนินการหลักสูตรการพัฒนาและปรับปรุงระบบการผลิตน้ำประปาให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานน้ำอุปโภคบริโภค

“การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาหลักสูตรกลางเพื่อสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ให้กับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มผู้ใช้น้ำภาคส่วนต่างๆ ได้เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้านน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตร Water Academy สำหรับนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง เพื่อก่อเกิดความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตรงตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.น้ำในการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน อันจะเป็นการขยายผลในการร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ของประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว