อย. ลงพื้นที่สร้างขวัญกำลังใจแก่สถานประกอบการ ส่งเสริมเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ

อย. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม 2 แห่ง เพื่อเป็นการหนุนส่งเสริมเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฐานรากให้มั่นคง ก้าวสู่การแข่งขันในระดับสากล

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยทีมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสร้างขวัญกำลังใจแก่สถานประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ในระหว่างวันที่ 15 – 16 มกราคม 2568 โดย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย. ร่วมส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการในชุมชนมีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศมีการลงพื้นที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งด้านความรู้เชิงวิชาการของผลิตภัณฑ์สุขภาพและการจัดการสถานที่ผลิตอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการในชุมชนสามารถขออนุญาต อย. ได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เปิดโอกาสทางการแข่งขันในตลาดระดับประเทศและระดับสากล

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคามในครั้งนี้ อย. ได้เข้าตรวจเยี่ยมสถานประกอบการจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1. วิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนซำสูง แหล่งผลิตเครื่องสำอางแบรนด์ชาร์โคล แชมพูสมุนไพร สบู่ชาร์โคล ดินและถ่านดูดกลิ่นอับชื้น ชุมชนแห่งนี้เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่ศรัทธาในวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เน้นการนำทรัพยากรชีวภาพมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสูง ทดลองวิจัยพัฒนาซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานราก เป็นการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น ตามหลักการ “สร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้” 2. บริษัท เอเบิ้ล เมดิคอล จำกัด แหล่งผลิตยาปราศจากเชื้อชั้นนำในประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นต่อความเป็นเลิศด้านเภสัชกรรม โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ยาที่มีคุณภาพพร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านการดูแลสุขภาพเทียบเท่าของยุโรปหรือ GMP PIC/S ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งขณะนี้บริษัทกำลังขยายการผลิตเพื่อส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ

เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ได้ให้คำแนะนำด้านคุณภาพมาตรฐานแก่สถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในชุมชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงานให้เข้าถึงและเกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะทำให้บรรลุเป้าหมาย “ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” ในที่สุด