นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558 โดยผ่านวาระ 1 ด้วยเสียงเห็นด้วย 165 เสียง จากผู้ลงคะแนน 184 เสียง และกำหนดให้แปรญัตติภายใน 7 วัน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ…. จำนวน 21 ท่าน พิจารณาให้แล้วเสร็จตามข้อบังคับสภา
สำหรับการนำเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558 ในครั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอัครา พรหมเผ่า) รับมอบหมายจาก ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเสนอ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไข 71 มาตรา โดยมีหลักการและเหตุผลจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำการประมงในปัจจุบัน และมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่ใช้บังคับอยู่ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตทำการประมงและเครื่องมือทำการประมง ให้สอดคล้องกับวิถีการทำประมงในปัจจุบัน ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง โดยแยกการกระทำที่เกิดขึ้นในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เพื่อให้การใช้มาตรการทางปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นโดยกำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับใหม่นี้ มุ่งหมายเพื่อการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและในน่านน้ำทั่วไปเพื่อป้องกันมิให้มีการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทางกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศรวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมงตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเหมาะสม
โดยมีสาระสำคัญที่มีการแก้ไขอีกหลายประการ เช่น การปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด การให้เรือประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำการประมงมากขึ้น การปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม การกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น การยกเลิกมาตรา 34 ที่ห้ามเรือประมงพื้นบ้านออกทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง การยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีสภาพบังคับอยู่แล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการประชุมพิจารณา (ร่าง) กฎหมายดังกล่าว มีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 13 ท่าน ให้ความสนใจซักถามและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งอธิบดีกรมประมงได้ชี้แจงข้อมูลต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 69 ซึ่งเป็นมาตราที่มีการแก้ไขให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงนอกเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งได้ในเวลากลางคืน และกำหนดเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วยนั้น เนื่องจากเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร แต่มีช่วงอายุขัยประมาณ 1 ปี เมื่อไม่ถูกจับจะตายไปตามธรรมชาติจึงเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้ง เมื่อจับปลากะตักได้ปริมาณน้อยส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบในอุตสาหกรรมน้ำปลาและการผลิตปลากะตักแห้งในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำเข้าปลากะตักจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลากะตักอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม จึงมีการปรับปรุงแก้ไข มาตรา 69 โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรปลากะตักอย่างเหมาะสมและยั่งยืนไม่เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ น้อยที่สุด ซึ่งข้อเท็จจริงในข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ยังไม่มีผลบังคับใช้โดยทันทีเมื่อกฎหมายผ่านขั้นตอนของสภาออกมาเป็นพระราชบัญญัติแล้ว ต้องนำไปพิจารณาในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขทางวิชาการ เช่น ขนาดตาอวนทั้งผืนต้องมีขนาดไม่น้อยกว่ากว่า 0.6 เซนติเมตร และกำหนดช่วงเวลาให้ทำได้ในช่วงที่มีการปนของสัตว์น้ำอื่นๆ น้อยที่สุด เบื้องต้นอาจกำหนดให้ทำประมงได้เฉพาะในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ในฝั่งอ่าวไทย และเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ในฝั่งทะเลอันดามัน เฉพาะในพื้นที่อนุญาตซึ่งไม่ทับซ้อนกับเขตมาตรการอนุรักษ์ เช่น มาตรการปิดอ่าว มีระดับความลึกของน้ำไม่น้อยกว่า 30 เมตร เรือทุกลำที่จะเข้ามาทำต้องเป็นเรือที่ได้รับใบอนุญาตอวนล้อมจับปลากะตักอยู่เดิม โดยเรือทุกลำต้องติด VMS ส่งสัญญาณให้ติดตามได้ทุก 15 นาที ไม่อนุญาตให้เครื่องมือชนิดอื่นเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก จับคู่เรือปั่นไฟ และอนุญาตให้ใช้เรือปั่นไฟรวมกันไม่เกิน 3 ลำ ต่อเรืออวนล้อมจับปลากะตัก 1 ลำ โดยไม่ออกใบอนุญาตเรือปั่นไฟเพิ่ม และกำหนดกำลังไฟของเรือปั่นไฟ ไม่เกิน 40 กิโลวัตต์ กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำ อาทิ การใช้ระบบโควตา การใช้ระบบสมุดบันทึกการทำการประมงแบบอิเล็กทรอนิกส์ และต้องแจ้งเข้าและออกทำการประมงกับศูนย์ PIPO ทุกครั้ง ฯลฯ และนำไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจนได้ข้อยุติจึงจะดำเนินการในการออกประกาศฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เป็นการเสนอจากพรรคการเมือง และ ค.ร.ม. โดยผ่านกลไกของรัฐสภามาตามลำดับ เป็นการสร้างบริบทการประมงของประเทศไทยในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและไม่ได้ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ และมั่นใจว่าการบังคับใช้กฎหมายสามารถดำเนินการได้ตามที่มีการแก้ไขปรับปรุง และจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงได้ อีกทั้ง ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิตของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนเพื่อเป็นแหล่งอาหารของโลกและการเกิดความคุ้มค่าจากการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และประชาชน คือ ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่จะฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชน
โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ…. โดยจะเริ่มพิจารณาครั้งแรก ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2568 และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา วาระ 2 เพื่อพิจารณารายมาตรา และวาระที่ 3 พิจารณาเห็นชอบ ผ่าน พ.ร.บ.ประมง เพื่อนำเสนอมาบังคับใช้ตามขั้นตอนต่อไป…อธิบดีกรมประมง กล่าว