กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาตรการสำคัญเพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยล่าสุดได้สั่งการให้ กรมประมง ขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้ใช้อวนรุนประกอบเรือกลสำหรับการประมงพื้นบ้านและประมงน้ำจืด จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2568 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า…ตามที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนและแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรชาวประมง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งยังคงพบการระบาดในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องมีการกำจัดอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้กรมประมงออกหลักเกณฑ์การอนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมืออวนรุน สำหรับการประมงพื้นบ้านและน้ำจืด ในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด เพื่อเร่งควบคุมการแพร่กระจายและลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหลักเกณฑ์การอนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมืออวนรุน เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ ดังนี้
1. อนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมืออวนรุนประกอบเรือกลขนาดไม่เกิน 3 ตันกรอสทำการประมงพื้นบ้าน หรือประมงน้ำจืด เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในบริเวณพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ตามที่กรมประมงประกาศกำหนด
2. ระยะเวลาในการผ่อนผันให้ใช้เครื่องมืออวนรุน ตามข้อ 1 ให้มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
3. การอนุญาตผ่อนผันตาม ข้อ 1 – 2 ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมประมงประกาศกำหนด
สำหรับรูปแบบของ อวนรุน ที่จะนำมาใช้ในการกำจัดปลาหมอคางคำ มีรายละเอียดดังนี้ 1) มีขนาดคันรุนยาวไม่เกิน 16 เมตร 2) ห้ามติดโซ่ แต่ให้มีการถ่วงน้ำหนักได้ด้วยการติดตั้งถ่วงน้ำหนักที่แนบกับเชือกคร่าวล่าง 3) ขนาดของตาอวนตลอดผืนไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร 4) การทำประมงอวนรุนจะต้องอยู่ภายใต้การ “ควบคุมกำกับดูแล” ของเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นั้น ๆ ได้มอบหมาย 5) ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด วางแผนการกำกับติดตามและรายงานผลการดำเนินการใช้อวนรุนให้ กรมประมง ทราบภายใน 30 วันหลังสิ้นสุดระยะเวลาที่อนุญาตผ่อนผันให้มีการจับปลาหมอคางดำด้วยวิธีอวนรุน
โดยที่ผ่านมา กรมประมง มีการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมลงแขกลงคลอง กิจกรรมสนับสนุนส่งเสริมการนำปลาหมอคางดำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร กิจกรรมการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยการปล่อยปลาที่มีความสามารถในการกำจัดปลาหมอคางดำ เช่น ปลาอีกง ปลากดคัง ปลาช่อน ปลากะพงขาว ในพื้นที่ที่มีการกำจัดอย่างต่อเนื่อง และมีความชุกชุมลดลง โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงปัจจุบันปล่อยปลาผู้ล่าในพื้นที่แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งสิ้น 694,850 ตัว และสำหรับการดำเนินงาน ปี 2568 ได้ดำเนินการโครงการต่อเนื่องจากโครงการสิบหยิบหนึ่ง โดยนำปลากะพงขาวที่มอบเกษตรกรเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงคืนกลับมาร้อยละ 10 นำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป
อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า…กรมประมงไม่ได้นิ่งนอนใจ และห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวประมง รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการต่าง ๆ ทุกมาตรการที่กรมประมงนำมาใช้นั้น จะสามารถควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาด ลดการสร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวประมง สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนร่วมกัน เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับมาเป็นระบบนิเวศที่มีความสมดุลอย่างยั่งยืนต่อไป