วช. จับมือ มธ. จัดการอบรมหลักสูตร THRU มุ่งสร้างเครือข่ายนักวิจัย – ผู้ใช้ประโยชน์ พร้อมต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้งานจริง

โครงการการพัฒนาหลักสูตรเสริมศักยภาพและจรรยาบรรณด้านการวิจัย ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดการอบรมนำร่องหลักสูตรเสริมสมรรถนะบุคลากรสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ (THRU) ซึ่งมีบุคลากรจากทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมกว่า 50 คน ตั้งแต่วันที่ 14 – 16 มกราคม 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำผลของงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ว่า “การอบรมหลักสูตร THRU เป็นกิจกรรมนำร่องที่บรรจุเนื้อหาที่มุ่งมั่นยกระดับให้บุคลากรสามารถต่อยอดงานวิจัยเบื้องต้น และพัฒนาเป็นงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ในมิติต่าง ๆ เช่น นโยบาย ชุมชน และสาธารณะ ตลอดจนการพัฒนาทัศนคติที่เน้นด้านจรรยาบรรณ ความรู้ และทักษะที่จำเป็นอย่างรอบด้านให้กับบุคลากร พร้อมกันนี้ยังมีรูปแบบการอบรมที่สนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยระดับปรมาจารย์ – นักวิจัยที่พร้อมต่อยอด – ผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้สามารถนำผลของงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้สำเร็จเป็นจริงได้”

ภายในการอบรมหลักสูตร THRU ได้รับเกียรติจาก ดร.เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “งานวิจัยสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์: ความท้าทายและโอกาสในการนำไปใช้ประโยชน์” ซึ่งได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาบุคลากรให้สามารถพัฒนางานวิจัยที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ได้เองต่อไป เช่น การคาดการณ์อนาคต (Strategic Foresight) จรรยาบรรณการวิจัย และทักษะการสื่อสาร สำหรับการอบรมหลักสูตร THRU ประกอบด้วย 5 โมดูลการเรียนรู้ และระบบโค้ชชิ่ง 3 ระดับ โดยตลอดทั้ง 3 วัน ของการอบรมแบบ On-Site ผู้เข้าอบรมจะได้รับการบ่มเพาะความรู้และทักษะในด้านต่าง ๆ ผ่านการ Workshop และ Coaching

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายในหัวข้อแรก “Module 1: Global and Local Perspective” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดของการพัฒนางานวิจัยจากมุมมองในระดับโลกและท้องถิ่น “สังคมศาสตร์ของเรา ในความเห็นของผมบ มีการรับเอาสังคมศาสตร์ของตะวันตกมาใช้อย่างมาก โดยเชื่อว่าสังคมศาสตร์เหล่านั้นเป็นศาสตร์สากล หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับความเป็นสากล แต่เรายังไม่ได้พยายามสร้างสังคมศาสตร์ที่มีความเป็นพหุศาสตร์หรือพหุสังคมศาสตร์ เช่น สังคมศาสตร์แบบตะวันออก สังคมศาสตร์แบบตะวันออกกลาง หรือแม้แต่สังคมศาสตร์แบบไทยของเราเอง เรายังไม่ค่อยกล้าคิดในเรื่องนี้

เหตุผลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะเรามองว่าสังคมศาสตร์ต้องเป็นศาสตร์สากล คล้ายกับวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าสังคมศาสตร์มีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก มันเป็นศาสตร์ที่ขึ้นอยู่กับบริบทของวัฒนธรรม (relative to culture) ไม่ใช่ศาสตร์ที่เป็นสากล (universal) เหมือนวิทยาศาสตร์

ดังนั้น สังคมศาสตร์บางประเภทอาจสามารถใช้ได้ดีกับบริบทของตะวันตก แต่กลับใช้ไม่ได้ผลกับบริบทของตะวันออกหรือสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้มองว่าเราควรละเลยสังคมศาสตร์ของตะวันตกนะครับ แต่เราควรนำมาใช้เป็นพื้นฐานและพัฒนาแนวคิดของเราเองต่อไป

ความคิดของผมในแง่นี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “post-Western” แต่ไม่ใช่ “post-Western” แบบที่หลายคนเข้าใจทั่วไป วิธีที่ผมหมายถึงคือเราควรพัฒนาให้ก้าวพ้นยุคที่มุ่งเน้นแต่ยูโรเซนทริซึม (Eurocentrism) แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือทิ้งสิ่งที่ตะวันตกสร้างขึ้นมา เพียงแค่ทำให้มันยืดหยุ่นและสามารถผสมผสานสิ่งที่เป็นของตะวันออก เช่น จีน อินเดีย หรือแม้แต่ไทย เข้าไปด้วย” ดร.เอนก กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเรื่องการปรับใช้สหวิทยาการเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันในสาขาต่าง ๆ และเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหา ระเบียบวิธีวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์จริง การแสวงหาเครื่องมือในการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์และเครื่องมือในการประเมินผล ปิดท้ายด้วยการอบรมเรื่องทักษะการนำเสนองานวิจัย เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและมีการนำผลของงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริงในที่สุด

ตลอดการอบรมหลักสูตร THRU ยังมีกลไก Dialogue ระหว่างนักวิจัยระดับปรมาจารย์ – นักวิจัยที่พร้อมต่อยอด – ผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างเครือข่ายของการสนทนาที่นำไปสู่การต่อยอด การพัฒนาวิจัย และการนำผลของงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ ภายหลังการอบรมแบบ On-Site เสร็จสิ้น ผู้เข้าอบรมจะมีระยะเวลาอีก 1 เดือน ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการให้สมบูรณ์ ซึ่งจะมีการติดตามการพัฒนาข้อเสนอโครงการอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญในลำดับถัดไป

“คณะผู้จัดการอบรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมหลักสูตร THRU ในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดงานวิจัยในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้สามารถนำประโยชน์ไปใช้ได้จริง และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทยได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา” ดร.สุนิดา กล่าว