กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เดินหน้าพัฒนาศูนย์การแพทย์แผนไทยพนา สู่ศูนย์ความเป็นเลิศระดับเขตสุขภาพ ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย และการผลิตสมุนไพรแบบครบวงจร พร้อมส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ วิจัย และผลิตสมุนไพรที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า โรงพยาบาลพนามีบริการแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบันและมีโรงงานการผลิตยาสมุนไพรแบบครบวงจร ซึ่งมีความโด่ดเด่น ใน 3 ด้าน
ด้านที่ 1 คลินิกบริการแพทย์แผนไทย ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ เวชกรรมไทย ผดุงครรภ์ไทย เภสัชกรรมไทย และนวดไทย ให้บริการแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน (Complementary Medicine) และมีการบูรณาการผสมผสานทุกหน่วยงานในโรงพยาบาล
ด้านที่ 2 การผลิตสมุนไพรครบวงจร มีการผลิตยาสมุนไพรจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน GAP พร้อมผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผ่านมาตรฐาน GMP มากกว่า 70 รายการทั้งยาสมุนไพร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ผลิตและจำหน่ายให้ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล บุคคลทั่วไป ร้านขายยา และโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียง และจากมูลค่าการผลิตทั้งหมดในโรงงานผลิต GMP เขตสุขภาพที่10 มีมูลค่าการผลิต 47.3 ล้านบาท พบว่าในส่วนของโรงพยาบาลพนามียอดการขายสมุนไพร 11.9 ล้าน นอกจากนี้ รพ.พนา ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ (Prime Minister Herbal Awards: PMHA) ประเภทโรงงานผลิตยาสมุนไพรดีเด่นระดับชาติ
ด้านที่ 3 วิจัย และการฝึกอบรมด้านแพทย์แผนไทย มีงานวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ครีมไพล และ เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ด้านวิชาชีพแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราช คณะพยาบาล ม.มหิดล ม.พะเยา ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นแหล่งศึกษาดูงานฝึกอบรมด้านแพทย์แผนไทยให้ประชาชนทั่วไป มีการเปิดอมรมหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 372 ชั่วโมง และหลักสูตรอบรมระยะสั้นอื่นๆ เพื่อผลิตบุคลากรด้านแพทย์แผนไทยในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
นายแพทย์สมฤกษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมจัดตั้งศูนย์การแพทย์แผนไทยประจำเขตสุขภาพในพื้นที่ขาดแคลน โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 10 จะโอนศูนย์การแพทย์แผนไทยพนาให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภายใน 3 เดือน ผ่านการถ่ายโอนภารกิจจากสำนักงานปลัดกระทรวงฯ พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การอบรม และการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก โดยคาดหวังให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจสุขภาพ และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับการแพทย์แผนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่