รัฐบาล โดย วธ. ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชฯ ทั่วประเทศ

วันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 07.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีตักบาตรพระสงฆ์และพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำทางศาสนา 5 ศาสนา และหน่วยงานเครือข่าย ณ มณฑลพิธท้องสนามหลวง

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน ในวันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นวันสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรีนับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในส่วนกลาง รัฐบาลมอบหมายให้กรมการศาสนาจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2568 ณ วัดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 วัด และ 1 โบสถ์พราหมณ์ และพิธีทางศาสนามหามงคลถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ในวันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. ณ เต็นท์พิธีการท้องสนามหลวง โดยมีผู้นำองค์การศาสนา 5 ศาสนา ร่วมประกอบพิธีทางศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือการสวดมนต์ เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพื่อจำหลักคำสอนที่เป็นพระพุทธวจนะเท่านั้น การได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สวดสาธยาย ถือว่าเป็นสิริมงคล ประสิทธิ์ประสาทความเจริญ และสามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายได้ ศาสนาอิสลาม ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร เพื่อแสดงออกถึงการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ซึ่งอิสลามสอนให้อ่านดุอาอ์ในเวลาและโอกาสต่าง ๆ ศาสนาคริสต์ ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร เป็นรูปแบบความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า การภาวนาสำหรับชาวคริสต์ศาสนิกชน จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยมีบทภาวนาที่คริสต์ศาสนิกชนทุกคนสามารถอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้ เพื่อแสดงความเป็นน้ำใจเดียวกัน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สวดถวายพระพร เรียกว่า พรหมยัชญะและเทวยัชญะ เป็นหลักสำคัญ 2 ประการ ที่ผู้นับถือศาสนาฮินดู ที่เคร่งจะต้องทำประจำวัน ที่เรียกว่า ปัญจมหายัชญะ คือการบูชาที่ยิ่งใหญ่ 5 ประการ และศาสนาซิกข์ สวดอัรดาสและกีรตันขอพรจากพระศาสดา เป็นบทสวดเพื่อรำลึกถึงพระคุณของศาสดาขอให้พระองค์ประทานพร ปกป้องคุ้มครองศาสนิกชนทุกเชื้อชาติศาสนา นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังได้จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามอยุธยเยศเศวตฉัตร เฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีสมมงคล ในวันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 ด้วย

ในส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกับจังหวัดและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ องค์กรทางศาสนาทุกส่วนราชการ องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ในวันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. ณ สถานที่ที่เหมาะสมของแต่ละศาสนาตามบริบทของพื้นที่ โดยการจัดงานในครั้งนี้เพื่อให้ศาสนิกชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อีกทั้งส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกศาสนาด้วยการนำหลักธรรมทางศาสนาและน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และศาสนสถาน เป็นพลังในการขับเคลื่อน อันจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนในสังคมอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศชาติเกิดความสันติสุขสืบไป