วธ. ร่วมสมโภชพระอาราม 197 ปี วัดประยุรวงศาวาส “สุขสราญงานวัด ทัศนาสถาปัตย์ นมัสการมหาเจดีย์” สุดยิ่งใหญ่

วันที่ 11 มกราคม 2568 เวลา 18.30 น. พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กล่าวสัมโมทนียกถา ในงานสมโภชพระอาราม 197 ปี วัดประยุรวงศาวาส ภายใต้แนวคิด “สุขสราญงานวัด ทัศนาสถาปัตย์ นมัสการมหาเจดีย์” โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายสุรพล เศวตเศรนี ประธานโครงการพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ท้องถิ่นย่านกะดีจี-คลองสาน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ เวทีกลาง หน้าศาลาสกุลไทย วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

โดยในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ให้ความร่วมมือในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการจัดงานสมโภชพระอาราม 197 ปี วัดประยุรวงศาวาส ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนาได้ร่วมกับวัดประยุรวงศาวาส จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ โดยมีพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เป็นประธานอนุกรรมการ การจัดกิจกรรมอารามอร่าม ประดับไฟต้อนรับเทศกาลปีใหม่ การสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ ตลอดจนการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลต่างๆ และจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี งานครั้งนี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างวัดประยุรวงศาวาส กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด “สุขสราญงานวัด ทัศนาสถาปัตย์ นมัสการมหาเจดีย์” ไหว้พระขอพร ย้อนวันวาน ชิมอาหารท้องถิ่น ชมศิลปินร่วมสมัย เที่ยวงานปลอดภัย ใส่ใจรักษ์โลก เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนและเป็นการนำซอฟต์พาวเวอร์ในมิติศาสนาและวัฒนธรรมมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนผ่านกลไกการขับเคลื่อนด้วยพลังบวร บ้าน วัด โรงเรียน ศาสนสถาน โดยมีวัดและศาสนสถานเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้ชมความงามของพระบรมธาตุมหาเจดีย์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่

ทั้งนี้ งานสมโภชพระอาราม 197 ปี วัดประยุรวงศาวาส จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 17.00 – 23.00 น. ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมด้านศาสนา เช่น การประกวดและการแสดงทางด้านวัฒนธรรมจากเวทีการแสดงต่าง ๆ และร้านค้าชุมชนในย่านกะดีจีน-คลองสาน มากกว่า 100 ร้านค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่อยู่ในเครือข่ายการทำงานตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย โครงการสารพัดสรรพศิลป์ โครงการ OTOP Junior ร่วมด้วยกิจกรรมประกวด อาหาร 3 ศาสน์ “ร้านดีศรีชุมชน กะดีจีน-คลองสาน ปี 4” เพื่อยกระดับร้านค้าชุมชนที่มาออกร้านให้มีมาตรฐาน และเพื่อรักษาชื่อเสียงร้านค้าชุมชน กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาบูรณาการผสานความร่วมมือกับ วัดประยุรวงศาวาส ชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน สำนักงานอาชีวศึกษา มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายของกรมการศาสนา ทั้งนี้ ได้จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ การแสดงชุดนาฏศิลป์ไทยประยุกต์ และร้องเพลงประกอบแดนเซอร์จากโรงเรียนวัดลาดปลาเค้า ,การแสดงโปงลางร่มจิกออนซอน (ศพอ.วัดนาคปรก) , การแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค ฟ้อนขันดอก (ภาคเหนือ) ระบำครุ (ภาคกลาง) ฟ้อนไทยพวน (ภาคอีสาน) และภูมิใจใต้ (ภาคใต้) จากโรงเรียนนาหลวง และการแสดง ครื้นเครงเพลงพื้นบ้าน จาก ศพอ.วัดพรหมวงศาราม รวมทั้งออกบูธร้านค้าและบูธกิจกรรม อาทิ บูธขนมบ้าบิ่น จากกรมการศาสนา, บูธซาโมซ่า จากสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา บูธผัดไทย-ชาอินเดีย จากสมาคมฮินดูสมาช บูธเคบับ จากสำนักจุฬาราชมนตรี บูธยำขนมจีน & ทองพับ จากวัดนาคปรก บูธขนมจีนน้ำเงี๊ยว จากชุมชนวัดประยุรวงศาวาส

การจัดงานนี้ยังคงรูปแบบเทศกาลงานวัดแบบดั้งเดิมที่ยิ่งใหญ่ในย่านฝั่งธนบุรี อันเป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาชุมชนเมือง ซึ่งวัดประยุรวงศาวาส เปรียบเสมือนศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของชาวไทยย่านกะดีจีนฝั่งธนบุรี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ได้แก่ พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างดี ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจึงถือเป็นย่านประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ภายในวัดประยุรวงศาวาส มีกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมสักการะความมหัศจรรย์อันงดงาม และบูชาความศักดิ์สิทธิของพระบรมธาตุมหาเจดีย์ หนึ่งเดียวในโลกที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งจากองค์การยูเนสโก สักการะพระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดาพระประธานในพระอุโบสถ สักการะพระพุทธนาคในพระวิหาร สักการะพระพุทธนาคปรกพันปีในพิพิธภัณฑ์ สักการะพระพุทธรูปหยกขาว (ปางปฐมเทศนา) สักการะหลวงพ่อแขกในเขามอ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมทางศาสนา สืบสานประเพณีไทยแล้ว ยังเป็นการ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ได้รักษาดูแลวัดเป็นศาสนสถานซึ่งมีบทบาทต่อสังคม ภายใต้แนวทางการจัดการ บวร ยกกำลังสอง เป็นการเชื่อมโยงบริบทสังคมในทุกมิติ บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และพื้นที่โดยรอบ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน