สรพ. ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เยี่ยมชมให้กำลังใจ รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ หนึ่งในหน่วยบริการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ (P-HA) ขั้นพัฒนาได้สำเร็จ ชี้การพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิจะเป็น จิ๊กซอว์สำคัญในการยกระดับส่งมอบคุณภาพระบบบริการสุขภาพจากในโรงพยาบาลไปสู่ประชาชนในชุมชนและสังคม
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแจ้งใหญ่ (รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่) อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 เพื่อเยี่ยมชมการบริหารจัดการของ รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิได้รับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ (P-HA) 1 ใน 13 แห่ง ของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ขั้นพัฒนา และจะขอรับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ในปี 2568
พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า “มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ถือเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนา สำหรับผู้บริหารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ในการบริหารองค์กร เป็นเครื่องมือสำหรับบุคลากร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลใช้เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานกำกับในการพัฒนาร่วมเชิงระบบ ดังนั้นมาตรฐานจึงไม่ใช่เพียงเพื่อประเมินรับรอง แต่เพื่อชี้นำทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาของสถานพยาบาลที่ต้องทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานร่วมกัน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านกระบวนการ “รู้เรื่องเรา เข้าใจหลัก รักประชาชน” วันนี้เราเห็นแล้วว่า บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ได้เสียสละทุ่มเท พัฒนาระบบงานคุณภาพตามมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ มีการเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายอย่างชัดเจน มีการจัดการภาวะโรคที่มีผลต่อสุขภาวะของประชาชนเกิดขึ้นในชุมชนที่สำคัญร่วมกัน ปี 2567 สรพ.ให้การรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลไปแล้ว จำนวน 53 แห่ง แบ่งเป็นการรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเขตนครชัยบุรินทร์ จำนวน 46 แห่ง และในจังหวัดสกลนคร จำนวน 7 แห่ง”
นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (HACC-นครชัยบุรินทร์) กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ขั้นพัฒนา จำนวน 36 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสังกัดกระทรงสาธารณสุข จำนวน 26 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 10 แห่ง การขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น บทบาทของ สสจ. คือผู้ทำหน้าที่ในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย และมาตรฐานในภาพรวม ส่วนศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (HACC-นครชัยบุรินทร์) ทำหน้าที่เป็นครูฝึก ที่คอยช่วยให้แนะนำปรึกษาและฝึกอบรมให้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลพัฒนาตนเองตามมาตรฐาน โดยอาศัยทีมพี่เลี้ยงคุณภาพ หรือ (Quality Expert) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและประเมินรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิเป็นทีมในการดำเนินงาน ได้ร่วมมือกับ สรพ. ในการได้ขับเคลื่อนศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ในการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิ ด้วยการพัฒนา ทักษะ องค์ความรู้ ให้กับพี่เลี้ยงกระบวนการคุณภาพ จำนวน 21 คน, ที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพ จำนวน 12 คน เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างการเรียนรู้ให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่อไป
ด้าน นางศิริพร หวะสุวรรณ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หนองแจ้งใหญ่ กล่าวว่า “เรานำมาตรฐานปฐมภูมิมาใช้ในการพัฒนา รพ.สต. นั้นเริ่มจากการ รู้เรื่องเรา เข้าใจหลัก โดยตำบลหนองแจ้งใหญ่ เป็นพื้นที่ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 4 กม. มีหมู่บ้านทั้งหมดจำนวน 10 หมู่บ้าน 1,522 หลังคาเรือน รวมประชากรทั้งหมดประมาณ 4,000 คน อาชีพหลักของประชากรในพื้นที่คือการทำเกษตรกรรม อาทิ ทำนา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ในแง่ของบริการด้านสุขภาพ รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ มีบุคลากรจำนวน 8 คน ผู้รับบริการมีความหลากหลายตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มวัยเรียน กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไปจนถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้แล้วยังได้เครือข่ายในพื้นที่ทั้งโรงพยาบาลชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน วัด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและผู้นำชุมชน ร่วมสนับสนุนการพัฒนาไปด้วยกันโดยมีเป้าหมายการทำงานให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ เป็นที่พึ่ง นึกถึงเป็นที่แรก” ขอบคุณที่สรพ. จัดทำมาตรฐานปฐมภูมิและเห็นคุณค่าของหน่วยบริการปฐมภูมิเห็นเป็นหนึ่งกระบวนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่ใกล้กับประชาชนที่สุด”
สำหรับผลลัพธ์การพัฒนาและคุณค่ามาตรฐานปฐมภูมิที่ส่งมอบให้กับประชาชนผู้รับผลงาน รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ มีความโดดเด่นในด้านการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยสามารถให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ทั้งในสถานบริการและในชุมชน มีผู้สูงอายุกลุ่มที่พึ่งตนเองได้ (กลุ่มติดสังคม) รวมตัวกันเป็นชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง พร้อมให้การส่งเสริมสนับสนุน การส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค และดูแลผู้สูงอายุกลุ่มที่พึ่งตนเองได้บ้าง (กลุ่มติดบ้าน) และผู้สูงอายุกลุ่มพึ่งตนเองไม่ได้ (กลุ่มติดเตียง) ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ ขณะเดียวกัน รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ ยังมีการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเป็นระบบต่อไป
พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า สถานพยาบาลปฐมภูมิ เป็นหน่วยบริการด่านแรกในการให้บริการประชาชนในด้านสุขภาพแบบองค์รวม และหากสามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพบริการให้มีมาตรฐาน รวมถึงเชื่อมต่อกับการจัดสวัสดิการทางสังคมของท้องถิ่นเพื่อสร้างบริการที่รอบด้านและครอบคลุมทุกช่วงวัย ก็จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการยกระดับระบบสุขภาพจากโรงพยาบาล ไปสู่ Healthcare System และ Health System ในที่สุด
พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า สรพ. ได้พัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ซึ่งพัฒนาตามแนวทางของ ISQua EEA ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีการประกาศใช้มาตรฐานฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันมี รพ.สต. ที่สมัครใจและได้รับการประเมินการพัฒนาจำนวน 53 แห่ง ในพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ได้แก่ จ.สกลนคร จ.ภูเก็ต เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 4 โดยจะเริ่มประเมินและรับรองคุณภาพขั้นมาตรฐานในปีงบประมาณ 2568 นี้ ซึ่ง รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ ก็เป็นหนึ่งใน รพ.สต. แห่งแรกๆ ของประเทศที่การรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ขั้นพัฒนา ได้สำเร็จ
“เจตนารมย์ของมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิไม่ใช่เพียงเพื่อประเมินรับรอง แต่เพื่อชี้นำทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาของสถานพยาบาลที่ต้องทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานร่วมกัน เปิดกว้างรับนวัตกรรมการจัดการใหม่ๆ ไม่ติดยึดวิธีการบริหารทรัพยากรในรูปแบบเดิม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้สถานพยาบาลปฐมภูมินำมาตรฐานไปใช้เพื่อประเมินตนเอง โดยมีเครือข่ายพันธมิตรในการสนับสนุน ส่งเสริม และกำกับติดตามการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการคุณภาพตามแนวคิดข้างต้นจนได้รับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ P-HA ขั้นพัฒนา” พญ.ปิยวรรณ กล่าว
พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า สรพ. ขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจทีมงาน รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ ตลอดจนถึงสถานพยาบาลปฐมภูมิอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรฐาน P-HA จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้เป็นที่พึ่งแห่งแรกที่ประชาชนนึกถึง สามารถดูแลตั้งแต่เริ่มแรก รอบด้าน ครบถ้วน ต่อเนื่อง และประสานเชื่อมโยงกับสถานพยาบาลและเครือข่ายทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลลัพธ์บริการสุขภาพที่ดีและเกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย บุคลากร และสังคม ต่อไป