กรม สบส.จับมือ 6 หน่วยงาน จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ผลักดันผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงและอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพสู่เวทีโลก

Featured Video Play Icon

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการนานาชาติ ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย ให้เป็นเวทีในการพัฒนานโยบายและแนวทางในการควบคุมกำกับการผลิตและการให้บริการผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย

วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรม สบส. เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย” พร้อมด้วย นายแพทย์อัครพล คุรุศาสตรา ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และผู้ทรงคุณวุฒิจากในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมงานในครั้งนี้

นายแพทย์กรกฤช รองอธิบดีกรม สบส. เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ เป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์และสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์มูลค่าสูง หรือ Advanced Therapy Medicinal Products : ATMPs ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีแบบเดิมของคนไทย ที่มีความปลอดภัยและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมภาครัฐและภาคเอกชน ให้ได้รับข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี การพัฒนา และการผลิต ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการพัฒนานโยบายและแนวทางการควบคุมกำกับ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ

นายแพทย์อัครพล คุรุศาสตรา ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แพทยสภา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนานโยบายและแนวทางควบคุมกำกับการผลิตและให้บริการผลิตภัณฑ์การแพทย์ของไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์และการให้บริการด้วย ATMPs ในต่างประเทศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังชูบทบาทการบริการสุขภาพที่มีศักยภาพสูงของไทย มุ่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากในประเทศและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อาทิ Global ATMP Markets and Regulation, ATMP Manufacturing Standards and Regulatory Evolution in Japan, สถานการณ์ใช้เซลล์และยีนบำบัดในประเทศไทย การพัฒนาและผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูงในประเทศไทย และอื่นๆ โดยมีผู้เข้าร่วมงาน 300 คน