พม. จับมือ เครือข่าย จัดประชุมอาเซียน ดึงผู้แทนภูมิภาคต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานสังคมสงเคราะห์ มุ่งบูรณาการทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 นางจตุพร โรจนพานิช รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเปิดการประชุมระหว่างประเทศด้านสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 2 เรื่อง “ขอบเขตของงานสังคมสงเคราะห์ : การกำหนดเส้นทางด้วยการวิจัยและการปฏิบัติงาน” (The 2nd International Conference of the ASEAN Social Work and Social Development 2025 “Social Work Horizons: Charting the Path with Research and Practice”) พร้อมด้วย นางสาวบุษยา ใจสว่าง ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม เป็นผู้แทนประเทศไทยในการนำเสนอภาพรวมงานสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 มกราคม 2568 โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Department of Applied Social Science, China and Global Development Network, the Hong Kong Polytechnic University เพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาสังคม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียนและภูมิภาคต่าง ๆ ประมาณ 200 คน ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ

นางจตุพร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงการวิจัยทางวิชาการกับการปฏิบัติในโลกจริง เพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นในชุมชน ตลอดจนร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ และเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อที่จะกำหนดอนาคตของงานสังคมสงเคราะห์ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชากรโลกได้ประสบปัญหาในหลายด้าน อาทิ โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการนำผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้กำหนดนโยบาย จากภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก ร่วมหารือถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ

สำหรับกระทรวง พม. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร ซึ่งเป็นกรอบการทำงานเกี่ยวกับ 5 มิติ ในการพัฒนาสังคมเข้าด้วยกัน พร้อมกับ 5 กลยุทธ์ ในการพลิกความท้าทายให้กลายเป็นโอกาส โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความสามารถในการรับมือของกลุ่มเปราะบางกับภัยพิบัติ การส่งเสริมความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางจตุพร กล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประชุมได้ร่วมกันนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์ของแต่ละประเทศ โดยกระทรวง พม. ได้นำเสนอภาพรวมงานสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย ปัจจุบันจากสถิติของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พบว่า ประเทศไทยมีนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 3,111 คน โดยปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 2,753 คน และปฏิบัติงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและภาคเอกชน จำนวน 358 คน ซึ่งระบบงานสังคมและสวัสดิการของประเทศไทย ยึดหลักการส่งเสริมความเท่าเทียม การเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน และการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ภายใต้การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยกระทรวง พม. ถือเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้บริการด้านสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมและเป็นธรรมในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม เพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา และส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม โดยจะได้รับการบรรลุผลผ่านกรอบการทำงานหลายมิติที่ครอบคลุมด้านงานสังคมและสวัสดิการสังคมหลายด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคม เป็นต้น

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #5×5ฝ่าวิกฤติประชากร #พมหนึ่งเดียว #วราวุธศิลปอาชา #ศบปภ #สังคมสงเคราะห์ #