กรมการแพทย์แผนไทยฯ ห่วงใยสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย แนะดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาว

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ห่วงประชาชนทุกกลุ่มวัยเจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะ 3 กลุ่มอาการที่มักพบบ่อย เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ อาการปวดกล้ามเนื้อ และ อาการทางผิวหนัง แนะยาสมุนไพรใกล้ตัวใช้ดูแลสุขภาพ ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร ยาปราบชมพูทวีป ยาเถาวัลย์เปรียง ยาประคบ ว่านหางจระเข้ และสมุนไพรใกล้ตัว รสขม เปรี้ยว เผ็ดร้อน ดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาว

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น หรืออุณหภูมิลดลง เป็นสาเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจ อาการปวดกล้ามเนื้อ อาการทางผิวหนัง เป็นต้น ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพและ ช่วยป้องกันโรคและอาการดังกล่าว ได้ดังนี้ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไข้หวัด เจ็บคอ อาการที่เกิดจาก การแพ้อากาศ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่สามารถใช้ยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เจ็บคอ รับประทานครั้งละ 1.5 กรัม – 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน มีข้อห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร และ ในผู้ป่วย ที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียเกิดอาการรุนแรง ยาปราบชมพูทวีป สรรพคุณ บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการ ที่เกิดจากการแพ้อากาศ รับประทานวันละ 3 – 4 กรัม แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร มีข้อห้ามใช้ ในกรณีที่มีไข้ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก และผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้อากาศ อาการปวดกล้ามเนื้อ ยาเถาวัลย์เปรียง สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ยาประคบ หรือ ลูกประคบ สรรพคุณ เพื่อลดอาการปวด ช่วยคลายกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อ นำยาประคบไปนึ่ง แล้วใช้ในขณะยังอุ่น วันละ 1 – 2 ครั้ง ลูกประคบ 1 ลูก สามารถใช้ได้ 3 – 4 ครั้ง ห้ามประคบบริเวณที่มีบาดแผล และไม่ควรใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป อาการทางผิวหนัง ผิวแห้งและแตก แนะนำ ว่านหางจระเข้ หรือ น้ำมันมะพร้าวสรรพคุณเพิ่มความชุ่มชื้น ทาบริเวณผิวหนัง เช้า – เย็น หรือเมื่อมีอาการ การใช้ยาสมุนไพรไทยเหล่านี้ก่อนใช้ควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อนใช้ยา

นายแพทย์สมฤกษ์ กล่าวอีกว่า เมนูอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพรจะช่วยปรับสมดุลร่างกาย เช่น รสเปรี้ยว อมขมเล็กน้อยและรสเผ็ดร้อน เช่น เมนู แกงขี้เหล็ก ขี้เหล็ก เป็นยาระบาย ช่วยให้นอนหลับสบาย แกงส้มดอกแค ดอกแค ช่วยแก้ไข้เปลี่ยนฤดู สะเดา มีรสขมเมื่อกินแล้วช่วยแก้ไข้ เจริญอาหาร ขิง แก้ลมจุกเสียด แก้คลื่นไส้ อาเจียน มะนาว ช่วยขับเสมหะ มะขามป้อม แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอแก้คอแห้ง ขับเสมหะ ในฤดูหนาวจะมีตำรับยาสมุนไพร เรียกว่า พิกัดยาตรีสาร ยาสมุนไพรที่มีรสร้อน 3 ชนิด ใช้อัตราส่วนตัวยาสมุนไพรเท่ากัน 1:1:1 ได้แก่ รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน และรากช้าพลู พิกัดยาตรีสารเหมาะสำหรับใช้ในฤดูหนาวเนื่องจากจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย ช่วยกระจายเลือดลม และบำรุงธาตุ ซึ่งยาเหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านขายยาสมุนไพร หรือ ร้านขายยาสมุนไพรจีน หรือแม้กระทั่งตามคลินิกการแพทย์แผนไทย ก็มีตัวยาเหล่านี้ที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวได้เช่นกัน

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทย ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM