พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีภารกิจในการกำกับ ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ของผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมในสถาบันการเงินตามมาตรา 13 และผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 โดยเฉพาะกลุ่มนิติบุคคล ผู้มีหน้าที่รายงาน 4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย
(1) ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วย อัญมณี เพชรพลอย หรือทองคำ
(2) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
(3) ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า
(4) นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ประเภทบุคคลรับอนุญาต
ให้ส่งข้อมูลการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินความเสี่ยง และบริหารจัดการคดีของผู้มีหน้าที่รายงาน (Risk Assessment and Case Management for Reporting Entities System: AMRAC) ตามที่หนังสือสำนักงาน ปปง. แจ้งกำหนด เพื่อประโยชน์ในการกำกับ ตรวจสอบ และวิเคราะห์รายงานหรือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมและประเมินความเสี่ยงตามกฎหมายฯ และป้องกันมิให้ท่านถูกใช้เป็นเครื่องมือและช่องทางในการฟอกเงิน
ทั้งนี้ หากผู้มีหน้าที่รายงานไม่ดำเนินการตามที่กำหนด อาจทำให้ถูกพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และอาจมีความผิดตามกฎหมายฯ
อย่างไรก็ตาม ขอให้ท่านระวังมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกให้ส่งข้อมูลหรือโอนเงินให้ เป็นต้น ดังนั้นหากพบเหตุอันควรสงสัย โปรดตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน หากมีข้อสงสัยให้สอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710 ในวันและเวลาราชการ