กรม สบส. เดินหน้ายกระดับการบริการประชาชนด้วยระบบออนไลน์ มุ่งสู่องค์กรดิจิทัล

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล 7 ด้านปฏิรูปการทำงานของหน่วยงานภาครัฐด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เข้าถึงบริการได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ มุ่งยกระดับหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยว่า ปัจจุบันประชาชนมีความคาดหวังที่จะได้รับบริการที่รวดเร็ว โปร่งใสและสามารถเข้าถึงการบริการของรัฐที่ง่ายโดยผ่านระบบออนไลน์ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการบริการสาธารณะ กรม สบส. จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการดิจิทัลของกรม สบส. ตามภารกิจ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วม 7 ด้าน ประกอบด้วย 1..แนวนโยบายและหลักปฏิบัติ (Policies & Practices) 2. กระบวนการพัฒนาด้วยข้อมูล (Data-driven Practices) 3. ศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิทัล (Digital Capability) 4..บริการภาครัฐ (Public Services) 5..การบริหารจัดการรูปแบบดิจิทัล (Smart Back Office) 6. โครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (Secure and Efficient Infrastructure) และ7. เทคโนโลยีดิจิทัล และการนำไปใช้ (Digital Technology Practices) เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านดิจิทัลตามภารกิจ มุ่งพัฒนาการให้บริการภาครัฐให้ทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล

ดร.นพ.ภานุวัฒน์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการขับเคลื่อนทั้ง 7 ด้าน มุ่งพัฒนาทักษะบุคลากรดิจิทัลของผู้ปฏิบัติงานให้มีความพร้อมในการบริหารงานภาครัฐสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการบริการประชาชนที่ลดระยะเวลา ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน อาทิ การทำธุรกรรมแบบครบวงจร ผ่านเว็บไซต์ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (https://bizportal.go.th) การยกเลิกการเรียกใช้สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านจากประชาชน เป็นต้น  และเตรียมพร้อมพัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้รองรับการใช้งานของผู้พิการทางสายตา เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และเพื่อให้สอดรับกับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ที่มุ่งพัฒนาการให้บริการภาครัฐให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการบริการสาธารณะ ยกระดับหน่วยงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล