อย. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ผลักดันให้ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยใช้กลไกเครือข่าย บวร.ร. เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน
วันที่ 27 ธันวาคม 2567 นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นประธานเปิดการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาชุมชนรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้วยเครือข่าย บวร.ร. ในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ ศูนย์บริการสุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายรณรงค์ให้คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีการดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้วยเครือข่ายชุมชนร่วมใจ ป้องกันภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเครือข่าย บวร.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) โดยในการประชุมหารือครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และสร้างวิถีชีวิตที่สุขภาพดี โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย บวร.ร. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ปัจจุบันมีเครือข่าย บวร.ร. รวม 255 ชุมชน จาก 59 จังหวัดทั่วประเทศ
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อย. มีเป้าหมายที่จะขยายผลการดำเนินงานชุมชนรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีความหลากหลายทางสังคม รวมทั้งมีประชากรแฝงที่มาจากทุกภาคทั่วประเทศจำนวนมาก จึงมีความท้าทายในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโรค NCDs ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศ การดำเนินงานเครือข่าย บวร.ร. ในเขตกรุงเทพฯ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย อย. จะร่วมมือกับกรุงเทพมหานครนำร่องดำเนินงานใน 5 ชุมชน ได้แก่ เขตคลองเตย เขตหลักสี่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตสวนหลวง และเขตทวีวัฒนา เพื่อร่วมกันวางแผนและดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน ตลอดจนขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ลดความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์สุขภาพและลดโรค NCDs ที่ยั่งยืนในระยะยาว