กรม สบส.ย้ำ รพ.เอกชน พร้อมรับผู้ป่วย ช่วง 10 วัน อันตราย

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ย้ำสถานพยาบาลเอกชนเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ช่วง 10 วัน อันตราย เทศกาลปีใหม่ ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยทุกราย ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ตามนโยบาย UCEP

ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตามที่ภาครัฐได้มีมติขยายวันเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพิ่มเป็น 10 วัน ตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนทั่วประเทศจะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวกันอย่างคับคั่ง จึงอาจจะส่งผลให้มีอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัวเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเวลาปกติ ดังนั้น เพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต ให้ได้รับการดูแล รักษาจากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐ ในการสร้างความครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยจากสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก กรม สบส. จึงได้มีการมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่จากกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมายดำเนินการในเชิงรุก ลงพื้นที่ตรวจสอบ คุมเข้ม และทำการแจ้งเวียนแก่สถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ให้มีการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยในช่วง 10 วัน อันตราย และปฏิบัติตามนโยบาย UCEP อย่างเคร่งครัด ไม่ปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในทุกกรณี โดยจะต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับแรก หากพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะมีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อรับบริการตามนโยบาย UCEP แก่ประชาชน ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด แต่หากผู้ป่วยมิได้มีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ก็จะต้องมีการสื่อสารสอบถามสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถปรึกษา ขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งได้ที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็ขอให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป