สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 1 ในองค์กรร่วมจัดงาน “รำลึก 20 ปีสึนามิ” ร่วมกับเครือข่ายภัยพิบัติทั่วประเทศ นักวิชาการ ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม
โดยทุกภาคส่วนจะมาร่วมทบทวนเรื่องราว ความทรงจำ ปฏิบัติการของชุมชนจากวิกฤติ สู่การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ จากเครือข่ายผู้ประสบภัยทั่วประเทศ พร้อมจุดประกายระบบการจัดการภัยพิบัติของไทย รวมถึงสร้างการเรียนรู้เชิงนโยบาย เพื่อเดินหน้าจัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วมในทุกภัยพิบัติ ทุกพื้นที่ ทุกมิติ
จากเหตุการณ์ “คลื่นยักษ์สึนามิ” ในปี 2547 ที่พัดพาความสูญเสียครั้งใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามัน นับเป็นจุดเริ่มต้นให้มีกฎหมาย นโยบายจัดการและรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ อาทิ อุทกภัย พายุหมุน แผ่นดินไหว ภัยแล้ง ไฟป่า-หมอกควัน ซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
โจทย์สำคัญคือ ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภัยธรรมชาติใน “ยุคโลกเดือด” ที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
การมี “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” จากการแลกเปลี่ยน ระดมความรู้ ความคิดเห็น ในหลายภาคส่วน ตลอดจนการถอดบทเรียนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประสบภัยโดยตรง เพื่อร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะให้ประเทศไทย ใน 2 ระดับ ดังนี้
1.ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะระดับชาติ
2.ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น เพื่อเสนอต่อองค์กรท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน
ข้อเสนอเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วน จะนำไปสู่แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะครอบคลุมแนวทางการปฏิบัติทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น การจัดทำแผนงาน มาตรการ การสนับสนุนองค์ความรู้ ระบบฐานข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่การบูรณาการ สร้างเสริมสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน
ครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิชุมชนไท กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมล้อมวงนำข้อเสนอนโยบายสาธารณะ เพื่อส่งมอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อการรับมือ พร้อมสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้
1) แนวทางการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติเพื่อประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากรจากทุกภาค
2) การส่งต่อองค์ความรู้จากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการจัดการภัยพิบัติเพื่อรับมือได้อย่างเต็มกำลังของชุมชน
3) นำบทเรียนด้านการจัดการภัยพิบัติมาปรับใช้ในชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยกันเต็ม เตรียมความพร้อม เติมข้อมูล ศักยภาพ เพื่อให้เกิดนโยบายเชิงบูรณาการ