ชป.เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง หวังบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองเพชร

ที่ประชุม กนช. เห็นชอบให้กรมชลประทานเดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ก่อนนำเสนอในที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการฯต่อไป

วันที่ 12 ก.ย.62 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 และการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี-กรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯว่า ที่ประชุม กนช. ได้มีมติให้กรมชลประทาน ดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี เป็นโครงการที่กรมชลประทาน ได้นำเสนอให้ กนช. พิจารณา เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำ อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าในการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จะต้องใช้มาตรการสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ การขุดขยายคลองห้วยยาง อัตราการระบาย 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การปรับปรุงคลองส่งน้ำสายที่ 1 (RMC1) อัตราการระบายน้ำ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมอัตราการระบายน้ำ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีลงสู่คลองระบายน้ำสายที่ 1 (D1) ก่อนระบายออกสู่ทะเล โดยในช่วงปลายคลองส่งน้ำจะแบ่งอัตราการระบายออกสู่ทะเลเป็น 2 ส่วน ได้แก่ คลองโรงปูน มีอัตราการระบาย 430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และและคลองธรรมชาติ 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่เกษตรของอำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม อำเภอแก่งกระจาน อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย อำเภอชะอำ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้จังหวัดเพชรบุรี มีโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น สามารถสร้างงานอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่ท้องถิ่นและภูมิภาคได้เป็นอย่างดี คาดจะสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จในปี 2563 และจะดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนที่กำหนดไว้

 

***********************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

12 กันยายน 2562