ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ “อหิวาต์” พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย “เมียนมา” ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า จ.ตาก รับมือสถานการณ์อหิวาตกโรค พร้อมสนับสนุนทีมช่วยสอบสวนโรค วางแนวทางการป้องควบคุมโรค ที่เมืองฉ่วยโก๊กโก่ “เมียนมา” เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดมายังไทย ล่าสุดพบผู้ป่วย 2 รายเข้ารักษาที่แม่สอดและแม่ระมาด เข้มเฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วงในจุดเสี่ยงสูง ทั้งชุมชนชายแดน โรงงาน ศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดน ดูแลความสะอาดน้ำกินน้ำใช้

วันที่ 22 ธันวาคม 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์อหิวาตกโรคที่เมืองฉ่วยโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ว่า อำเภอแม่ระมาดและอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอยู่ตรงข้ามกับเมืองฉ่วยโก๊กโก่ มีโรงงานจำนวนมาก และมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน อีกทั้งช่วงปีใหม่จะมีการจัดงานรื่นเริง พบปะสังสรรค์และรับประทานอาหารร่วมกัน จึงได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า จังหวัดตาก เพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดได้รับรายงานว่า เมืองฉ่วยโก๊กโก่มีผู้ป่วยรวม 300 ราย เสียชีวิต 2 ราย อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลฉ่วยโก๊กโก่ 56 ราย ส่วนประเทศไทย มีผู้ป่วยเข้ารักษา 2 ราย ที่โรงพยาบาลแม่สอด 1 ราย และโรงพยาบาลแม่ระมาด 1 ราย ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพร้อมให้การสนับสนุนทีมปฏิบัติการช่วยสอบสวนโรคและวางแนวทางการป้องกันควบคุมโรคในฝั่งเมียนมา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดมายังประเทศไทย และเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ชาวเมียนมา เฝ้าระวังคนไทยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง และเน้นการเฝ้าระวังเชิงรุกในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ชุมชนชายแดน โรงงาน ศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดน โดยให้ร้านยา ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) คอยสอดส่อง หากพบผู้ที่มีอาการท้องเสียแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันทีเพื่อเร่งตรวจสอบ พร้อมทั้งดูแลน้ำอุปโภคบริโภคให้สะอาด วัดและเติมคลอรีนให้เพียงพอตามมาตรฐาน และเฝ้าระวังการจัดกิจกรรมที่มีการขายอาหาร รวมถึงอาจให้มีการตรวจหาเชื้อในผู้ค้าหากจำเป็น ทั้งนี้ ได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ทำการสำรวจยา เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์จำเป็น ทั้งยา น้ำเกลือ คลอรีน ชุดตรวจหาเชื้อในอุจจาระ และ Rapid test เพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมแล้ว