สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ธ.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

คาดการณ์ : ในวันที่ 22-23 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่างมีกำลังปานกลาง ทำให้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในบริเวณภาคใต้ตอนล่าง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 80% ของความจุเก็บกัก (64,170 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 69% (39,955 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : รัฐบาลมีนโยบายให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยวานนี้ (20 ธ.ค. 67) นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้

1. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำชี และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี-มูล และโครงการปรับปรุงซ่อมแซมคันดินและก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งประตูระบายน้ำห้วยน้ำเค็ม (D5) ต.ยางท่าแจ้ง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ให้แล้วเสร็จภายในปี 68 และเร่งดำเนินการแผนงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า 3 แห่ง เพื่อบรรเทาอุทกภัยในปี 69 ได้แก่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าท่าสองคอนแห่งที่ 2 ต.ท่าสองคอน สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแดง ต.เกิ้ง และ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าท่าตูมแห่งที่ 2 ต.ท่าตูม จ.มหาสารคาม

2. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค จ.นครราชสีมา โดยกำชับและเน้นย้ำให้หน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการ ดังนี้

จังหวัดสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันความขัดแย้งในพื้นที่ และรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด

กรมชลประทานเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30 % โดยบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่สำคัญให้มีประสิทธิภาพ และจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้งและต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝน โดยจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคเป็นลำดับแรก

กรมชลประทานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และดำเนินการตามแผนการเพาะปลูกอย่างเคร่งครัด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค

การประปาส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค โดยในช่วงที่ยังมีน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ให้ดำเนินการสูบน้ำมาเก็บไว้ในแหล่งน้ำสำรองที่มีอยู่ เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา