วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมอบหมายให้ นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ลงพื้นที่ร่วมกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะ เพื่อติดตามการตรวจราชการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) พร้อมตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหาของประชาชน เกี่ยวกับแนวเขตที่ดินทับซ้อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ณ สำนักงานเทศบาลตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และเป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และสถานการณ์สถานการณ์ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
นายประเสริฐฯ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ทำงานหนักเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และขอเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และยั่งยืน และได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ และผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่ดิน และทรัพยากรน้ำ ผมจะกำกับการดำเนินงานของทุกหน่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องประชาชน และขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงาน ดังนี้
1. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย คทช. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เร่งสำรวจตรวจสอบความต้องการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและทำมาหากินได้อย่างมั่นคง สำหรับพื้นที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองสิทธิ์ ให้นำแนวทางที่ประสบความสำเร็จของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกาญจนบุรี มาเป็นต้นแบบ โดยให้ สคทช. เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและกำกับการดำเนินงาน และให้ สคทช. เร่งขับเคลื่อนแนวทางการสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ส.ป.ก. เร่งรัดปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเพื่อลดข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
2. การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในพื้นที่ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งรัดการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา 360 วัน รวมถึงให้เร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผล One Map กรณีมีปัญหาให้ใช้กลไกของ CEO One Map และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสาน ติดตาม ขับเคลื่อน และกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา สำหรับพื้นที่ที่ปรับปรุงเส้นแนวเขตแล้ว ให้เร่งออกเอกสารสิทธิที่ดิน และอนุญาตการใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน และให้ส่งพื้นที่ไป สทนช. เพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำด้วย และให้ สคทช. ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งชี้แจงสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ One Map เหตุผล ความจําเป็นและประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก One Map รวมถึงแนวทางของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
3. การจัดการเรื่องร้องเรียนและปัญหาความเดือนร้อนด้านที่ดิน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สรุปเรื่องร้องเรียน และปัญหาความเดือนร้อนด้านที่ดินของพี่น้องประชาชน ส่งให้ สปน. และสคทช. เพื่อรายงานต่อ คทช. และหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว รวมทั้งให้ สคทช. ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม หารือเพื่อยกร่างคำสั่งคณะกรรมการอิสระเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีกับประชาชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ประกอบด้วย ผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่ ภาคประชาชน นักวิชาการ และภาครัฐ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สคทช. และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งต่อไป และให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการให้เป็นที่ยุติภายใน 60 วัน และต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
“ผมขอให้ทุกหน่วยงานรายงานความก้าวหน้าให้ผมทราบเป็นระยะผ่านทาง สคทช. และผมจะลงมาติดตามผลการดำเนินงานด้วยตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนมีความก้าวหน้า เป็นไปตามแผนงาน และตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ผมขอย้ำว่ารัฐบาลจะไม่หยุดนิ่งจนกว่าทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ เราจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ” นายประเสริฐฯ กล่าว
นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน การจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน และแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาที่ดินอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล โดยได้มีการดำเนินการปรับปรุง แผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐในมาตราส่วน 1:4000 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาความทับซ้อนระหว่างหน่วยงานรัฐและที่ดินทำกินของประชาชน สำหรับจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อยู่ในกลุ่มที่ 3 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) และให้หน่วยงานที่มีที่ดินของรัฐอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับ One Map ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน ซึ่งเมื่อปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) แล้วจะมีที่ดินของรัฐ ดังนี้
– จังหวัดชัยภูมิ มีที่ดินของรัฐ ก่อน One Map 9,884,075.87 ไร่ หลัง One Map 5,011,345.74 ไร่
– จังหวัดสุรินทร์ มีที่ดินของรัฐ ก่อน One Map 4,828,657.50 ไร่ หลัง One Map 2,759,419.92 ไร่
– จังหวัดบุรีรัมย์ มีที่ดินของรัฐ ก่อน One Map 6,057,885.44 ไร่ หลัง One Map 3,007,098.59 ไร่
– จังหวัดนครราชสีมา มีที่ดินของรัฐ ก่อน One Map 17,140,824.63 ไร่ หลัง One Map 7,568,029.58 ไร่
มีตั้งคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหากรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใส รวมทั้งได้จัดทำมาตรการเยียวยาผู้ที่พิสูจน์สิทธิ์ได้ โดยเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาทรัพยากรที่ดินของรัฐ และสิทธิในการทำกินของประชาชน โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – พ.ศ. 2567 สามารถแก้ไขปัญหาข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ได้ข้อยุติ จำนวน 3,133 ราย 3,300 แปลง เนื้อที่ 24,593 – 2 – 45.30 ไร่ และเร่งรัดการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งได้ดำเนินการดำเนินการจัดสรรที่ดินของรัฐในประเภทต่าง ๆ เช่น พื้นที่ป่าสงวน, พื้นที่ราชพัสดุ และพื้นที่นิคมสหกรณ์ เพื่อให้ประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงสิทธิที่ดินได้อย่างถูกต้อง โดยผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2567 มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 1,594 พื้นที่ ใน 73 จังหวัด รวมเนื้อที่ประมาณ 5,924,671-2-92.65 ไร่ ดำเนินการจัดราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์จำนวน 85,403 ราย 105,657 แปลง เนื้อที่ 587,356 ไร่ ดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด จำนวนทั้งสิ้น 357 พื้นที่ 68 จังหวัด มีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ 57,592 ราย
นายสุริยนฯ รองผอ.สคทช. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนและปัญหาความเดือนร้อนด้านที่ดิน โดยในปี 2567 มีเรื่องร้องทุกข์รวม 1,176 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 792 เรื่อง ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 13 จำนวน 4 จังหวัด มีเรื่องร้องทุกข์ รวม 247 เรื่อง สามารถแก้ไขปัญหา ได้ข้อยุติ จำนวน 201 เรื่อง และได้จัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูล ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Block Chain และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันและนำไปวิเคราะห์เพื่อการบริหารจัดการและการตัดสินใจกำหนดนโยบายของประเทศด้านที่ดิน อีกทั้ง ได้ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ใช้มายาวนาน ของหลายหน่วยงานซึ่งมีความล้าสมัยและไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและล่าช้าในการแก้ปัญหาที่ดินระหว่างหน่วยงานรัฐ และรัฐกับประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. คทช. พ.ศ. 2562 เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้ง ได้บูรณาความร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน, ไฟฟ้า, น้ำประปา และระบบสื่อสาร ยกระดับการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าที่ดิน โดยได้มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบในหลักการแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดิน ประกอบด้วย การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเพื่อลดข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยน/จำหน่ายจ่ายโอนและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การกำหนดแนวทางการประเมินมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินที่รัฐจัดให้กับประชาชนเพื่อเป็นราคากลางในการเข้าถึงแหล่งทุน และการจัดให้มีระบบหรือสถาบันที่ให้สินเชื่อระยะกลางและระยะยาวให้แก่ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินของรัฐและจัดให้มีระบบประกันความเสี่ยงในการอำนวยสินเชื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดิน พร้อมสร้างช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนและตลาด ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตกทอดไปสู่ลูกหลานได้ รวมทั้ง มีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคงสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนต่อไป