วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ผอ.สคทช.) เป็นประธาน ปิดโครงการและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชา สู่การบริหารจัดการที่ดินในยุคดิจิทัล” ในพิธีปิดโครงการพื้นที่ต้นแบบการจัดที่ดินทำกิน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และน้อมนำศาสตร์พระราชา มาสืบสาน รักษา และต่อยอดนโยบายการจัดที่ดินทำกินของ คทช. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจัดทำพื้นที่ต้นแบบการจัดที่ดินทำกินของ คทช. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการประกอบอาชีพ สืบสาน ต่อยอดตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินและสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในพื้นที่ต้นแบบ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและสร้างรายได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการฯ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน นครราชสีมา กาฬสินธุ์ จันทบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และนายธนิต ชังถาวร ที่ปรึกษาสำนักพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ พร้อมด้วย ผู้แทนคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 5 คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงานฯ ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
ดร.รวีวรรณฯ ผอ. สคทช. กล่าวว่า โครงการพื้นต้นแบบการจัดที่ดินทำกินของ คทช. เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะเป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการถวายความจงรักภักดีและร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังทางสังคมเพื่อดำเนินรอยตามพระราชปณิธาน ตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ความสำเร็จจากพื้นที่ต้นแบบ จะถูกต่อยอดและขยายผลไปยังชุมชนในพื้นที่ คทช. ทั่วประเทศ และเป้าหมายของ สคทช. ให้ประชาชนอาศัยทำกินในที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพของประชาชนและสร้างโอกาสทางการค้าแล้ว ยังเตรียมผลักดันการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ คทช. ให้ได้รับมาตรฐานสากลต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับจากตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดโลก เพิ่มมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ ยกระดับรายได้ ความเป็นอยู่ให้คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินจากภาครัฐมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย ให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน สร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้ประชาชนมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ สร้างคุณภาพชีวิต ที่ดีให้กับราษฎรทุกหมู่เหล่าให้มีความมั่นคงสืบไป ผอ.สคทช. ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่า การจัดที่ดินทำกิน (คทช.) นั้น ไม่สามารถนำไปขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่จะสามารถตกทอดแก่ทายาท หรือตกทอดสู่ลูกหลานต่อไปได้
“ขอขอบคุณความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ทุกจังหวัด ที่จะร่วมสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดที่ดินทำกินของ คทช. ผ่านการขับเคลื่อนโครงการพื้นที่ต้นแบบการจัดที่ดินทำกินของ คทช. เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้ประชาชนสามารถก้าวข้ามความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ “ชุมชน คทช. ยั่งยืน” สร้างความผาสุกให้กับประชาชนอย่างแท้จริง” ดร.รวีวรรณฯ กล่าว
โดยภายในงานฯ ได้มีการบรรยายพิเศษ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน เรื่อง “พื้นที่ต้นแบบการจัดที่ดินทำกินของ คทช. บทเรียนสู่ความสำเร็จ” โดยผู้แทนคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด ทั้ง 6 จังหวัด ประกอบด้วย (1) จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม ตำบลช่างเคิ่ง และตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม (2) จังหวัดน่าน จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ ตำบลหนองแดง ตำบลหมอเมือง อำเภอแม่จริม (3) จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง (4) จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ปฏิรูปที่ดินบ้านดงกล้วย ตำบลนาจำปา อำเภอดอนจาน (5) จังหวัดจันทบุรี จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าปัถวี ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม และพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณบ้านสุสานขลุง บ้านเตาใน และบ้านท่ามะขาม ตำบลวันยาว อำเภอขลุง และ (6) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี
ทั้งนี้ พื้นที่ต้นแบบการจัดที่ดินทำกินของ คทช. จะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ความสำเร็จที่มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดการการบูรณาการความร่วมมือ ที่มีทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนให้การแก้ไขปัญหาสิทธิทำกินและการบุกรุกที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกรและราษฎรผู้ยากไร้ในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาครัฐหรือองค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนและพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบเครือข่ายที่สำคัญ และขยายผลการดำเนินงานและส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพและการตลาดในรูปแบบของชุมชน เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร หรือรูปแบบอื่น ๆ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับการจัดสรรอย่างคุ้มค่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน โดยการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ในพื้นที่ คทช. อื่นๆ ต่อไป