สทนช. ลุยพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยแล้ง ลงพื้นที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี หลังประเมินพบว่า จะมีพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 2 ตำบล คือ ต.พุคำจาน และ ต.ธารเกษม ช่วงเดือน ม.ค.68 สั่งบูรณาการหน่วยงานเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ป้องกันเชิงรุกก่อนเกิดภัย ลดผลกระทบให้กับประชาชน พร้อมสำรวจเตรียมขยายระบบประปาหมู่บ้านให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตามแผนแม่บทฯน้ำ
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลพุคำจาน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยมี นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายมนัสพันธ์ ดอนก้อนไพร นายอำเภอพระพุทธบาท พร้อมด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุคำจาน นายกเทศมนตรีตำบลธารเกษม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม หลังจากนั้น ลงพื้นที่ในจุดต่างๆ เพื่อสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและพื้นที่ที่เหมาะสมในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ สืบเนื่องจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ โดยได้กำชับให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพื่อเป็นการดำเนินการป้องกันในเชิงรุกก่อนเกิดภัย รวมทั้งการลงพื้นที่จะเป็นการรับทราบข้อมูลปัญหาด้านน้ำในมิติต่างๆ ในเชิงพื้นที่จริง เพื่อนำไปสู่กระบวนการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร คุณภาพน้ำ และปัญหาอุทกภัยในระยะยาวของ จ.สระบุรี นอกจากนี้ ยังได้สำรวจเพื่อเตรียมเร่งขยายระบบประปาหมู่บ้านให้ครอบคลุม
ในทุกพื้นที่ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกหมู่บ้าน ชุมชนเมือง
“สทนช. ได้ติดตามและประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 พบว่า มีจำนวน 22 จังหวัด 47 อำเภอ 61 ตำบล โดย จ.สระบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประเมินแล้วว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยเฉพาะ 2 ตำบลของ อ.พระพุทธบาท คือ ต.พุคำจาน และ ต.ธารเกษม ที่คาดว่าในช่วงเดือน ม.ค. 68 จะเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำจากบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้น โดยน้ำในพื้นที่มีการเจือปนแคลเซียมและตะกอนคาร์บอเนตปริมาณสูง ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ในการบริโภคได้ อีกทั้งปริมาณน้ำผิวดินมีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ จ.สระบุรี มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีน้ำใช้การอยู่ที่ 831 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% และมีแหล่งน้ำขนาดกลาง 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองเพรียว อ่างเก็บน้ำบ้านดง อ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว และอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก แต่ที่ อ.พระพุทธบาท ไม่มีแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่ จึงทำให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก” เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำผิวดิน โดยการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก 3 แห่งในพื้นที่ อ.พระพุทธบาท โดยมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำเรื่องขอความอนุเคราะห์กรมชลประทานในการสำรวจออกแบบ เพื่อนำไปเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ในส่วนของแหล่งเก็บกักน้ำเดิมที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เกิดการชำรุดทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในการพิจารณาตรวจสอบและหาแนวทางการแก้ไข พร้อมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการแก้ไข อีกทั้งมอบหมายกรมทรัพยากรน้ำ พิจารณาแนวทางการนำน้ำจากขุมเหมืองมาส่งให้กับประชาชนในพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยให้ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำใต้ดิน ในปัจจุบันพบปัญหาคือ น้ำในพื้นที่มีการปนเปื้อนของหินปูนในปริมาณมาก รวมถึงบ่อบาดาลที่มีอยู่เดิม เป็นบ่อเก่ามีอายุการใช้งานนาน บางบ่ออุดตัน ทำให้ปริมาณน้ำที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมอบหมายให้ ปภ. เข้าดำเนินการการแก้ไขปัญหาโดยใช้งบประมาณเผชิญเหตุมาดำเนินการ และมอบหมายกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจหาพื้นที่ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ ต.พุคำจาน และ ต.ธารเกษม อ.พระพุทธบาท สำหรับประเด็นปัญหาคุณภาพน้ำ ในเบื้องต้นมอบหมาย กปภ. ดำเนินการอบรมการบำบัดน้ำให้กับ อบต. ที่ดำเนินกิจการประปาด้วยตนเอง นอกจากนี้ สทนช.จะประสานกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำหินปูนให้สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้
ในส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการขยายเขตประปาส่วนภูมิภาคให้ครอบคลุมหมู่บ้านมากขึ้น ได้สั่งการให้ กปภ. ทำแผนขยายเขตการส่งน้ำประปาให้ครอบคลุมทุกบ้านในพื้นที่ อ.พระพุทธบาท พร้อมกำชับให้นายอำเภอพระพุทธบาท เร่งสำรวจความต้องการของประชาชนโดยการประชาคมสมาชิกในอำเภอ เพื่อใช้ประกอบการทำแผนขยายเขตของ กปภ. รวมทั้งให้จังหวัด และ สทนช. บูรณาการร่วมกันในการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับขั้นตอนในการขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีถัดไป
“นอกจากนี้ ให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้รัดกุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม โดยในวันพรุ่งนี้ (20ธ.ค.67) รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) จะลงพื้นที่ตรวจราชการเขต 13 (จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) เพื่อติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มักประสบภัยแล้ง อีกทั้งปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย จึงต้องเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย