นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด “งานบริหารจัดการการทำประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ประจำปี พ.ศ.2567” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงได้ทำการประมงปลาบึกได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นการบริหารจัดการการทำประมงปลาบึกให้เหมาะสมต่อสภาวะการทำประมงและปริมาณปลาบึกในเขื่อนแก่งกระจาน โดยแต่ละปีจะกำหนดจำนวนปลาบึกที่สามารถจับขึ้นได้ เป็นการนำปลาบึกขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ตลอดจนเป็นแนวทางการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โดย 6 ชุมชนประมงรอบเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าเรือ ชุมชนบ้านวังวน ชุมชนบ้านท่าลิงลม ชุมชนบ้านพุเข็ม ชุมชนบ้านพุบอน และชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ สามารถจับปลาบึกได้อย่างถูกกฎหมายและกติกาชุมชนที่ร่วมกันกำหนดมีความสอดคล้องกับหลักวิชาการและมาตรการที่กรมประมงดำเนินการในการดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำ เนื่องจากปลาบึกเป็นสัตว์น้ำที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และอยู่ในบัญชี CITES กลุ่ม 1 เป็นชนิดสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้น การจับขึ้นมาใช้ประโยชน์จึงต้องดำเนินการภายใต้การบริหารจัดการการทำประมงให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ชุมชนชาวประมงรอบเขื่อนแก่งกระจานจึงมีแนวคิดจับ 1 ตัว ปล่อย 100 ตัว ซึ่งตอบโจทย์ตามนโยบายความมั่นคงทางอาหารของทางรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขณะนี้ โควตาการอนุญาตให้จับปลาบึกของปีนี้ จำนวน 50 ตัว ครบตามมติที่ชุมชนกำหนดเรียบร้อยแล้ว จึงประกาศสิ้นสุดฤดูการทำประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยตั้งแต่เปิดจับปลาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม 2567 รวม 38 วัน จับปลาบึกได้ทั้งหมด 51 ตัว (ปลาเป็น 10 ตัว และปลาสด 41 ตัว) ซึ่งตัวที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักถึง 195 กิโลกรัม ความยาว 2.36 เมตร และปลาตัวเล็กที่สุดน้ำหนัก 75 กิโลกรัม ความยาว 1.73 เมตร น้ำหนักปลาบึกที่จับได้ทั้งหมดรวม 5,327 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 763,240 บาท ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวประมงในชุมชนเป็นอย่างมาก โดยหลังจากนี้ทางกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน จะนำเงินรายได้จากการขายบัตรจับปลาบึก สมทบเข้ากองทุนปลาบึกเพื่อการบริหารจัดการปลาบึกตามกติกาของกลุ่มฯ ที่กำหนดไว้ว่าจับปลาบึกได้ 1 ตัวต้องนำเงินสมทบเข้ากองทุนปลาบึก 1,000 บาท ซึ่งปีนี้จะมีเงินเข้ากองทุนฯ รวม 51,000 บาท และเงินค่าสมัครทำการประมงปลาบึกของผู้สมัครจำนวน 21 ราย รวม 21,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 72,000 บาท เพื่อนำเงินไปซื้อลูกพันธุ์ปลาบึกสำหรับปล่อยตามแนวคิด จับ 1 ตัว ปล่อย 100 ตัว ช่วงเดือนเมษายน 2568 ในกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาบึกและการแข่งเรือเรารักแก่งกระจาน และรายได้ส่วนหนึ่งนำไปพัฒนาชุมชน วัด โรงเรียน ทุนการศึกษาและสวัสดิการของสมาชิกในชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวประมงรอบเขื่อนแก่งกระจานที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ข้อมูล ดังนี้ นายมงคล แพรเนียม อาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติด้านเครือข่ายเฝ้าระวังการทำการประมง (ประมงอาสา) ประจำปี 2567 ชาวประมงจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากการทำการประมงปลาบึกช่วยให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว ซึ่งการบริหารจัดการทำการประมงปลาบึกในรูปแบบนี้เป็นการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการทำประมงภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน มีการพูดคุยหารือแนวคิดวิธีการทำประมงที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชน เสริมสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ และเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
ด้าน นายบุญแรม รอดภัย กลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน มีสมาชิกทั้งหมด จำนวน 181 ราย ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของชุมชน ตั้งแต่ร่วมคิดวางแผน ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหา และร่วมดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ การทำธนาคารบ้านปลาตามชุมชนต่าง ๆ เฝ้าระวังการทำการประมงผิดกฎหมายในชุมชน โดยช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเฝ้าระวังการกระทำความผิดด้านกฎหมายประมง กำหนดกฎกติกาการใช้ประโยชน์สัตว์น้ำ จัดตั้งกองทุนการทำประมงปลาบึก ฯลฯ
นอกจากนี้ นายชัด สระทองย้อย สมาชิกในกลุ่มฯ ได้เล่าว่า ในอดีตการทำประมงในเขื่อนแก่งกระจานเป็นการทำประมงที่ไม่มีการควบคุม ชาวประมงมีการใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง การใช้วัตถุระเบิด การจับสัตว์น้ำช่วงฤดูสัตว์น้ำมีไข่ เป็นต้น ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง ส่งผลทำให้มีรายได้จากการทำการประมงลดลง ด้วยเหตุนี้ ชาวประมงจึงเห็นความสำคัญ เกิดความตระหนักและหันมาร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำ เกิดแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ภายใต้หลักการ “คง คืน เพิ่ม” ทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อให้ทรัพยากรประมงมีความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารและสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนจนถึงปัจจุบัน
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอัครา พรหมเผ่า) ได้เน้นย้ำให้กรมประมงดำเนินงานการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมประมงได้ขานรับนำนโยบายมาปฏิบัติและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกิจกรรมการทำประมงปลาบึกแบบอนุรักษ์นี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว กรมประมงจึงมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดจิตสำนึกอนุรักษ์บ้านเกิดเช่นนี้จะสามารถช่วยพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนต้นแบบและนำไปขยายผลดำเนินการสู่ชุมชนอื่นๆ ได้