สธ. เปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและสาธารณสุขทางทะเล จังหวัดระนอง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและทางทะเล ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
วันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่โรงพยาบาลระนอง จังหวัดระนอง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์ และสาธารณสุขชายแดน และสาธารณสุขทางทะเล จังหวัดระนอง โดยมี นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 11 ผู้บริหารและบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมงาน
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่ ให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงและได้กำหนดให้การจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อกลุ่มเปราะบางและพื้นที่พิเศษ เป็นหนึ่งในนโยบายกระทรวงที่มีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่พิเศษ ในโรงพยาบาลที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริม สนับสนุนทักษะความเชี่ยวชาญ และเพิ่มประสบการณ์ของบุคลากรในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข อันจะส่งผลให้ผู้รับบริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีสุขภาพที่ดี
“จังหวัดระนอง นอกจากทางบกจะติดกับประเทศเมียนมา ยังมีพื้นที่ติดทะเลด้วย ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและสาธารณสุขทางทะเล ร่วมกับ ศูนย์การเรียนรู้ฯ จังหวัดพังงา และศูนย์การเรียนรู้ฯ จังหวัดสตูล ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบูรณาการด้านการฝึกอบรมความรู้ทางวิชาการ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและทางทะเล ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน นพ.ธนิศ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ฯ จังหวัดระนอง ได้พัฒนาโครงสร้างและจัดทำร่างหลักสูตรการอบรม โดยกำหนดการเรียนการสอนเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 จัดอบรมหลักสูตรรายวิชาด้านสาธารณสุขชายแดนและสาธารณสุขทางทะเล แก่บุคลากรภายในจังหวัดระนอง อาทิ ระบาดวิทยาสำหรับเจ้าหน้าที่ในหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ, การพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์ เพศภาวะและความเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางในสถานบริการสุขภาพ, การพัฒนาระบบดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ระดับที่ 2 พัฒนาเป็นศูนย์การศึกษาระดับเขตสุขภาพ และภาคใต้ โดยมีแผนจัดอบรมการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันและสอบสวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำและอุบัติเหตุทางทะเล/จากสัตว์ทะเลมีพิษ และการจัดทำข้อมูลสาธารณสุขทางทะเลบริบทพื้นที่ และระดับที่ 3 พัฒนาเป็นศูนย์การแพทย์ตามนโยบาย SAP ร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมภาคสนามหลักสูตรต่างๆ ของผู้บริหารด้านสาธารณสุข