สธ.เผย เบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดหน่วยงานในสังกัดครบถ้วน เหลือ อปท. ที่เบิกจ่ายเพียง 8%

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แจง หน่วยงานในสังกัดเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ครบถ้วนทั้งหมดแล้ว เหลือในส่วนของ อปท. ที่เบิกจ่ายแล้ว 12 ล้านบาท หรือเพียง 8% ของวงเงิน 144.8 ล้านบาท เผย ที่ผ่านมามีกระบวนการสนับสนุนช่วยเหลือการเบิกจ่ายต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยคืบหน้า ล่าสุดมี 2 แห่งยืนยันไม่ขอเบิก

วันที่ 18 ธันวาคม 2567 นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ว่า ตามที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีการแถลงผลงานรัฐบาล โดยหนึ่งในนั้นคือประเด็นค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ครม. ได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,849.30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ค้างจ่าย ของหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – เดือนกันยายน 2565 ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายครบถ้วนแล้วทุกแห่ง เหลือส่วนของหน่วยงานนอกสังกัด วงเงิน 593.48 ล้านบาท ที่ยังมีการเบิกจ่ายน้อย โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

นพ.ศักดากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกระบวนการสนับสนุนช่วยเหลือ อปท. เพื่อเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือแจ้งผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้ อปท.จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมตรวจสอบข้อมูลค่าเสี่ยงภัย แต่ไม่มี อปท.เข้าร่วม ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 กองคลังจึงได้จัดประชุมอีกครั้ง เพื่อให้ อปท. 43 จังหวัด รวม 170 แห่ง ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดทำเอกสารเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 มาก่อน มาทำความเข้าใจการจัดทำเอกสารตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย โดยระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2567 มี อปท. เข้าร่วมตรวจสอบเอกสารไปแล้ว 145 แห่ง ยังเหลือ อปท.ที่ไม่สามารถเข้ามารับฟังคำชี้แจงได้อีก 25 แห่ง ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 กองคลังจึงมีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางเบิกจ่ายให้กับ 25 หน่วยงานที่เหลือโดยเฉพาะ และให้จัดส่งเอกสารภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 หรือหากไม่ประสงค์ขอเบิก ให้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยด่วน เพื่อบริหารจัดการงบประมาณต่อไป

“ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 พบว่า จากยอดรับจัดสรร 144,881,406 บาท มี อปท. ส่งเอกสารเบิกจ่ายเพียง 12,021,625 บาท คิดเป็น 8.30% และมีหน่วยงานที่ส่งหนังสือยืนยันไม่ขอเบิก 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้ บุคลากรสาธารณสุขที่สังกัด อปท. สามารถติดตามสอบถามความคืบหน้าได้กับ อปท.ที่เป็นต้นสังกัด” นพ.ศักดากล่าว