นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 34.15-34.28 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากเผชิญแรงขายหนักในช่วงวันก่อนหน้า โดยราคาทองคำ รวมถึงเงินบาทก็ได้แรงหนุนตามจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่า เฟดจะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าอย่างไร โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มมีมุมมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณผ่านคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ใหม่ ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ยังคงเห็นแรงซื้อบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และแรงขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์อยู่ นอกจากนี้ แม้ว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน จะขยายตัว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าคาดเล็กน้อย ทว่ายอดผลผลิตอุตสหากรรม (Industrial Production) เดือนพฤศจิกายน กลับหดตัวต่อเนื่อง -0.1%m/m แย่กว่าคาดพอสมควร ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าวก็มีส่วนชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ Broadcom -3.9%, Nvidia -1.2% เพื่อรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของ Tesla +3.6% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.39%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.42% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน อาทิ Santander -4.5% ขณะเดียวกัน ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ที่อาจกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ก็ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ อาทิ Shell -1.8% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างตามการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมที่เผชิญแรงขายพอสมควรในช่วงก่อนหน้า
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ อีกทั้งรายงานข้อมูลสหรัฐฯ ก็มาออกมาผสมผสาน ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เริ่มทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 4.40% หลังจากที่มีจังหวะปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 4.45% ทั้งนี้ เนื่องจากเราคงมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินอยู่บ้าง (เช่น เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2025 และอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2-3 ครั้ง ใน ปี 2026 จบรอบการลดดอกเบี้ย) ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก็ถือว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าทางกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเรา เนื่องจากเราคงประเมินว่า Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่าเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่โซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.7-107.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ทยอยรีบาวด์ขึ้น สู่โซน 2,660ดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกันกับในฝั่งยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนพฤศจิกายน เช่นกัน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ส่วนในฝั่งเอเชีย เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25% (มติอาจไม่เป็นเอกฉันท์ได้) เพื่อคงนโยบายการเงินที่เป็นกลาง ให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากขึ้นก็ตาม
และในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ โดยเรามองว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ทว่า เฟดอาจส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ย ผ่านคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ใหม่ที่อาจสะท้อนว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงราว 3-4 ครั้งในปีหน้า และเฟดอาจจบรอบการลดดอกเบี้ย (Terminal Rate) ที่ระดับสูงกว่าราว 3.00% ที่เฟดได้ประเมินไว้ในการประชุมเดือนกันยายน สอดคล้องกับการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Summary of Economic Projections หรือ SEP) ที่อาจดีขึ้นเมื่อเทียบกับ SEP ในการประชุมเดือนกันยายน และนอกเหนือจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ใกล้โซน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น ทั้งผลการประชุม กนง. ของไทย รวมถึง ผลการประชุม FOMC ของเฟดในวันพฤหัสฯ นี้
โดยในช่วงระหว่างวัน เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับขึ้นมาแถว 34.10-34.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ทว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวก็อาจถูกชะลอลงบ้าง ในกรณีที่ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ รวมถึงผลการประชุม กนง. ของไทย โดยหากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษชะลอลงชัดเจนและออกมาต่ำกว่าคาด ก็อาจเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE กดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้ ส่วนผลการประชุม กนง. นั้น แม้ว่าเรามองว่าอาจเป็น Non-Event ที่อาจไม่ได้กระทบต่อตลาดการเงิน แต่หาก กนง. มีมติลดดอกเบี้ยสวนทางกับที่เราประเมินไว้ พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่าที่เราประเมินไว้ได้
ส่วนในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference โดยเราคงมุมมองเดิมว่า หากเฟดและประธานเฟด ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ แต่หากเฟดปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ สอดคล้องกับสิ่งที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.40 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม กนง. ของไทย และ FOMC )