สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 ธ.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้: มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง

คาดการณ์ : ในวันที่ 18 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 80% ของความจุเก็บกัก (64,602 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 70% (40,386 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง
–  เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำสูงกว่าระดับควบคุมบน 1 แห่ง ดังนี้ ภาคใต้ : บางลาง

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ
วานนี้ (16 ธ.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 5/2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจากการประชุมพบว่า ในวันที่17ธ.ค.67 บริเวณพื้นที่ภาคใต้จะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้อีก ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หลังจากนั้นช่วงวันที่ 18-22 ธ.ค.67 ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดน้อยลง โดยจากการคาดการณ์ฝนภาพรวมในพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือน ธ.ค.67 – ม.ค.68 จะยังคงมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ย จึงยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้แจ้งปิดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 16-26 ธ.ค.67 เพื่อบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมให้กับประชาชนส่วนอ่างเก็บน้ำบางลาง จ.ยะลา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 83% ซึ่งยังคงอัตราการระบายน้ำที่18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำช่วงปลายปี และจะมีการปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมชลประทานกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุเก็บกัก เนื่องจากระบบการแจ้งเตือนในเชิงพื้นที่อาจจะยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ จึงต้องเตรียมทบทวนกลไกในการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้เสนอให้เตรียมการถอดบทเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแจ้งเตือนภัย และเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือ โดยจะทบทวนพื้นที่เสี่ยงและเตรียมลงพื้นที่ในเชิงรุกเพื่อบูรณาการทำงานในการป้องกันผลกระทบภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งที่ประชุมได้พิจารณาในหลักการการจัดทำผังน้ำ จำนวน 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง, ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำน่าน เพื่อเสนอต่อ กนช. พิจารณาและเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

5. สถานการณ์อุทกภัย : พื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ณ วันที่ 17 ธ.ค. 67 จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง ประชาชนได้รับผลกระทบ 161,605 ครัวเรือน