สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ธ.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

คาดการณ์ : ในวันที่ 17 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนผ่านอ่าวไทยตอนล่าง ภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 80% ของความจุเก็บกัก (64,681 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 70% (40,574 ล้าน ลบ.ม.)

– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำสูงกว่าระดับควบคุมบน 1 แห่ง ดังนี้ ภาคใต้ : บางลาง

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำ ช่วงวันที่ 14 – 23 ธันวาคม 2567
4.1 จากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง อาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและไหลเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)
4.2 เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงครามที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา และยะลา พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

5. สถานการณ์อุทกภัย : พื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ณ วันที่ 16 ธ.ค. 67 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ประชาชนได้รับผลกระทบ 128,035 ครัวเรือน

6. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ปี 2567 และผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้เข้าร่วมการศึกษาดูงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-มิสซิสซิปปี ครั้งที่ 12 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้และกำหนดทิศทางความร่วมมือในการบริหารจัดการบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้กับบริเวณอ่าวไทยของประเทศไทยได้ด้วย นอกจากนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับมาตรการทั้งที่ใช้โครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้าง รวมถึงมาตรการทางระบบนิเวศสามารถนำมาใช้ร่วมกันอย่างลงตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่นๆ รวมด้วย สิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นการวางแผน การดำเนินงานและการติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาและอนุรักษ์ด้านน้ำและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากปัจจัยทางด้านงบประมาณแล้ว เรื่องของการสำรวจและปรับปรุงข้อมูลด้านน้ำที่เป็นปัจจุบันทำให้สามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน (Optimization) และเกิดประโยชน์สูงสุด