นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) ปี 2568 ณ หอประชุมวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ถนนสุราษฎร์-นาสาร ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในขณะเดียวกันพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรรายย่อย ยังมีการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตรตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูล แหล่งทุน ทรัพยากร และการตลาดได้น้อย รวมถึงสิ่งสำคัญเรื่องสภาพอากาศในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างมาก เกษตรกรจึงต้องมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการทำการเกษตร เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่ จะทำให้สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตในภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 19 อำเภอ 187 ตำบล มีพื้นที่ทั้งหมด 8.17 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกพืช 3.9 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 3.8 ล้านไร่ ไม้ผล 1.5 แสนไร่ ข้าว 1.5 หมื่นไร่ และอื่น ๆ 596 ไร่ มีครัวเรือนเกษตร 147,878 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจสำคัญได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผลไม้ และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมถึงมีวิสาหกิจชุมชน 842 กลุ่ม กลุ่มส่งเสริมอาชีพ 84 กลุ่ม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 98 กลุ่ม และกลุ่มยุวเกษตรกร 97 กลุ่ม โดยปาล์มน้ำมันและไม้ผลยังเป็นพืชที่สร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกร จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรโดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ไว้ว่า “เมืองเกษตรมูลค่าสูง การท่องเที่ยวยั่งยืน สังคมเป็นสุข”
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร โดยผ่านสถานีเรียนรู้ต่างๆ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) ปี 2568 ได้แก่ สถานีเรียนรู้ที่ 1 ปาล์มน้ำมัน “เส้นทางสีเขียวและความยั่งยืน: นวัตกรรมปาล์มน้ำมันเพื่ออนาคต” “Road to Sustainability & Green : Palm Oil Innovations” ที่ให้ความรู้เรื่องนวัตกรรมการเกษตร การขับเคลื่อนมาตรฐานการผลิต การจัดการโรคและศัตรูปาล์มน้ำมัน เตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐาน RSPO และ EUDR อันเป็นการพัฒนาการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร สถานีเรียนรู้ที่ 2 ทุเรียน “นวัตกรรมเพื่ออนาคตของการผลิตทุเรียน” “Next Tech : Future of Durian Innovation” ที่ให้ความรู้เรื่องการป้องกันกำจัดโรคแบบผสมผสาน นวัตกรรมการเกษตรเพื่อการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Climate Change และการจัดการวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชนเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรผ่านนิทรรศการที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก
ปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1-6 ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ จัดงาน Field Day อย่างน้อยเขตละ 1 จุด โดยนำร่องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดแรก วัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ ๆ ช่องทางการตลาด และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกัน รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำหรับการจัดตั้งศูนย์บริการการเกษตรพิรุณราช ศูนย์บริการหลัก ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับกรม มีผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมารวม 960 ศูนย์ เกษตรกรแจ้งขอรับบริการสะสม จำนวน 15,071 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จร้อยละ 97 อยู่ระหว่างดำเนินการร้อยละ 3 ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 (ระยะที่ 2) จะเปิดศูนย์บริการเครือข่ายเพิ่มเติม จำนวน 1,937 ศูนย์ ซึ่งจะปรับปรุงระบบศูนย์โดยแบ่งการให้บริการเป็น 2 ส่วน คือส่วนงานรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์และส่วนรวมลิงค์งานบริการ (e-service) ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับเป็นช่องทางเข้าถึงของผู้รับบริการ จำนวน 11 หน่วยงาน 22 แอปพลิเคชั่น/ระบบงานบริการ