วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงแนวทางความร่วมมือประเด็นปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และแปรรูป โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมหารือความร่วมมือกับคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนา แก้ไข และขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ องค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีให้เกิดสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ภาคเอกชนมีวัตถุดิบคุณภาพสูงพร้อมแปรรูปส่งออกไปยังตลาดสากลตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้
สำหรับในส่วนของกรมประมงได้ร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนและผลักดันใช้วัตถุดิบสัตว์น้ำภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ผ่านมากรมประมงประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำให้กับชาวประมงและสมาคมผู้รับซื้อ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 กรมประมงได้เข้าร่วมการลงนามบันทึกความร่วมมือการรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทยในปี 2568 ระหว่าง สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และ สมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นความเห็นชอบร่วมกันระหว่าง 2 สมาคมฯ ในการใช้กลไกการตกลงราคามาช่วยแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ โดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยจะรับซื้อสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอจากสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) ในปี 2568 จำนวน 50,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท และจะหารือแนวทาง การรับซื้อร่วมกันเป็นประจำทุกไตรมาส สำหรับสินค้ากลุ่มสัตว์น้ำที่กรมประมงจะดำเนินการต่อไป คือ วัตถุดิบปลาทะเลเพื่อนำไปผลิตเป็นเนื้อปลาบด (ซูริมิ)
“การหารือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวประมงและผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจทางการเกษตรของประเทศอย่างแท้จริง” อธิบดีฯ กล่าว