สทนช. แจงรัฐบาลห่วงพื้นที่ท่วมซ้ำซากภาคใต้ กางแผนงาน/โครงการป้องกันอุทกภัยตลอดแนวใต้ตอนบนจนถึงล่างสุด เพิ่มประสิทธิภาพการระบาย ขยายพื้นที่กักเก็บน้ำ พัฒนาระบบป้องกันท่วม และรักษาระบบนิเวศ เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด
วันที่ 13 ธันวาคม 2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. ได้เปิดเผยเกี่ยวกับแผนงาน/โครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในหลายจังหวัด ซึ่งรัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงแรกที่เกิดเหตุท่านจะได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธานศูนย์ฯ ให้เฝ้าติดตามบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์อย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ช่วงเริ่มเกิดสถานการณ์จนถึงปัจจุบัน และเร่งดำเนินการพิจารณาจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ดำเนินการแผนงาน/โครงการต่างๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการ และเป็นแผนงาน/โครงการที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตลอดแนวตั้งแต่พื้นที่ภาคใต้ตอนบนจนถึงตอนล่าง ประกอบด้วย
แผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะเร่งด่วน) สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที จังหวัดชุมพร โครงการพระราชดำริ คลองหัววัง – พนังตัก (ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ) โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ลุ่มน้ำคลองชุมพร) โดยกรมชลประทาน (ชป.) มีครัวเรือนรับประโยชน์ 4,067 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 61,000 ไร่ จังหวัดพัทลุง คลองระบายน้ำลำเบ็ด โครงการพัฒนาและบรรเทาอุทกภัยเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง (ชป.) สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ จำนวน 5,000 ไร่ มีครัวเรือนรับประโยชน์ 500 ครัวเรือน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,500 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 300 ครัวเรือน จังหวัดสงขลา โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ให้ระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที และเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5.00 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียที่เกิดในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองนราธิวาส ระยะที่ 2 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) มีครัวเรือนรับประโยชน์ 2,589 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1,675 ไร่
แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ชป.) เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 15,450 ไร่ สร้างความมั่นคงด้านน้ำในอนาคต ยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการภายในปี 2568 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช (ชป.) ดำเนินการปี 2561-2570 หากแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำกักเก็บ 5.50 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 17,400 ไร่ จังหวัดตรัง โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง (ชป.) ภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองตรัง จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยจากที่เคยเกิดในปัจจุบันได้ถึงร้อยละ 47 ช่วยสำรองและใช้เพื่อการบริหารจัดการรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำ และเสริมศักยภาพน้ำต้นทุนด้านอุปโภคได้เพียงพอในอนาคต จังหวัดปัตตานี โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำปัตตานี บ้านบริดอ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ ความยาวรวม 714 เมตร (ยผ.) ดำเนินการปี 2567-2569 หากแล้วเสร็จจะได้รับประโยชน์ 87 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 50 ไร่ จังหวัดนราธิวาส ระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนสุไหงโก-ลก ระยะที่ 2 (ยผ.) (ดำเนินการปี 2564-2568) หากแล้วเสร็จครัวเรือนรับประโยชน์ 5,471 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1,562 ไร่
แผนงาน/โครงการในอนาคต จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี (ยผ.) มีแผนดำเนินการปี 2570 -2572 หากแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 2,469 ไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ 4,234 ครัวเรือน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการกระจายน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ชป.) มีแผนดำเนินการปี 2569 หากแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 120 ไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ 40 ครัวเรือน จังหวัดพัทลุง ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำคลองลำเบ็ด กม.4+100 (ชป.) มีแผนดำเนินการปี 2569 หากแล้วเสร็จจะมีครัวเรือนรับประโยชน์ 150 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 500 ไร่ จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งบริเวณด้านเหนือน้ำ-ท้ายน้ำ ประตูระบายน้ำบางนราตอนบน (ชป.) มีแผนดำเนินการปี 2569 หากแล้วเสร็จจะมีครัวเรือนรับประโยชน์ 150 ครัวเรือน และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 5,000 ไร่
“ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขในลำดับแรกๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่ที่อยู่ติดทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย อยู่ในแนวร่องมรสุม มีปริมาณฝนรายปีสูง ลำน้ำส่วนใหญ่เป็นลำน้ำสายสั้นๆ อุทกภัยที่เกิดขึ้นจะใช้เวลาไม่นาน แต่ก่อให้เกิดความเสียหายสูงโดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย