วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดโครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์นวัตกรรมและห้องปฏิบัติการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายแก่ผู้ประกอบการหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้รับทราบ ตลอดจนสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือระหว่างสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายกับผู้ประกอบการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ประกอบการเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 200 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาความรู้ กำหนดมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ และให้บริการตรวจวิเคราะห์ด้านเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุขตามกฎหมายและมาตรฐานสากล สนับสนุนด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ให้แก่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจสำหรับตรวจคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนประสานงานวิชาการและการฝึกอบรมของประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในการยกระดับวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์นวัตกรรมและห้องปฏิบัติการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แล้ว ยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ภก.วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล ภาควิชาเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางนวัตกรรมด้านเครื่องสำอาง และการอภิปราย เรื่อง บทบาทเครื่องสำอางไทยในเวทีอาเซียน โดย สมาคมผู้ผลิตสบู่ไทย ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือน และส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย
“รวมทั้งมีการนำเสนอผลงาน นวัตกรรม และแนะนำห้องปฏิบัติการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย การรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะการให้บริการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย และเปิดห้องปฏิบัติการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อาทิ ห้องปฏิบัติการทดสอบทางชีววิทยา ห้องปฏิบัติการทดสอบทางเคมีด้านวัตถุอันตราย ห้องปฏิบัติการทดสอบทางเคมีด้านเครื่องสำอางให้ผู้ประกอบการที่ร่วมงานได้เข้าเยี่ยมชมอีกด้วย”