สธ. นำนักการสาธารณสุขดีเด่น ประจำปี 2567 เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานรางวัลชัยนาทเรนทร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร นำนักการสาธารณสุขดีเด่น ประจำปี 2567 จำนวน 5 ราย เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานรางวัลชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นรางวัลจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2554 มอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาสาธารณสุข เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเป็นแบบอย่างให้นักการสาธารณสุขทั่วประเทศได้เจริญรอยตาม

วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการรางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2567 นำคณะผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นนักการสาธารณสุขดีเด่น ประจำปี 2567 เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในพระบรมราชวโรกาสพระราชทานรางวัลชัยนาทนเรนทร โดยศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม เป็นผู้กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของรางวัลชัยนาทนเรนทร และนายแพทย์โอภาส กราบบังคมทูลเบิกนักการสาธารณสุขดีเด่น ประจำปี 2567 เข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณรางวัลชัยนาทนเรนทร พร้อมเงินรางวัล จำนวน 5 ราย ได้แก่

1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นักการสาธารณสุขดีเด่น ประเภทบริหาร จากผลงานนโยบาย Health for Wealth ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ยกระดับสมุนไพรเพื่อการแพทย์และกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในระดับนานาชาติ (ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่) ควบคุมโรคระบาดโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับสุขภาพพื้นบ้าน เช่น นโยบาย 3 หมอ, 30 บาทรักษาทุกที่, มะเร็งรักษาทุกที่, ฟอกไตฟรี รวมถึงปฏิบัติการหัวใจติดปีก ขับเครื่องบินส่วนตัวสนับสนุนทีมแพทย์ในการรับส่งอวัยวะจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

2.นายแพทย์มนฑิต พูลสงวน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ จังหวัดพังงา นักการสาธารณสุขดีเด่น ประเภทบริการ จากผลงานระบบการส่งต่อที่ไร้รอยต่อ โดยใช้เทคโนโลยีเทเลเมด พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินโดยใช้เรือพยาบาลหรืออากาศยาน Sky Doctor ในพื้นที่ อีกทั้งมีความเสียสละ อุทิศตนทำงานในพื้นที่ห่างไกลเป็นระยะเวลาถึง 23 ปี

3.ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นักการสาธารณสุขดีเด่น ประเภทวิชาการ จากผลงาน Wellness ทางการแพทย์ อบรมแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน การรณรงค์ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” การจัดทำเกณฑ์และการประเมินโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2541 ให้ความรู้ด้านการแพทย์ผ่านสื่อสารมวลชนและโซเชียลมีเดีย และการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง

4.พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ พระครูเจ้าคณะตำบลชั้นเอก วัดหัวฝาย จังหวัดเชียงราย นักการสาธารณสุขดีเด่น ประเภทผู้นำชุมชน จากผลงานการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย คือโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2554 – ปัจจุบัน จัดตั้งมูลนิธิปิยวรรณพิพัฒน์สังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชน และขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาลวัดหัวฝาย

5.นางสาววิลัยวัลย์ ธงสันเทียะ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่ 7 ตำบลด่านใน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา นักการสาธารณสุขดีเด่น ประเภทประชาชน จากผลงานการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโควิด 19 จังหวัดนครราชสีมา ส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพ (Health Literacy) กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน / โรงเรียนเบาหวานวิทยา ขับเคลื่อนงาน อสม. ภายใต้แนวคิด “หมอคิด อสม.ทำ อสม.นำ เจ้าหน้าที่หนุน” พัฒนาโครงการเตรียมตัวก่อนเกษียณ และระดมทุนช่วยเหลือ อสม.ที่เดือดร้อน (บุญกฐิน อสม.)

ทั้งนี้ มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (มสช.) ได้จัดให้มีการมอบรางวัลชัยนาทนเรนทรแก่บุคคลที่มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเป็นแบบอย่าง ให้นักการสาธารณสุขทั่วประเทศได้เจริญรอยตามเริ่มดำเนินการภายใต้โครงการรางวัลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ตั้งแต่ พ.ศ.2554 และต่อมาในปี พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนาม “ชัยนาทนเรนทร” เป็นชื่อรางวัล เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย