วันที่ 11 กันยายน 2562 นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดเลย สู่มาตรฐานสากล” โดยการลงนามครั้งนี้ประกอบไปด้วย 10 หน่วยงาน คือ จังหวัดเลย, สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเลย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย, หอการค้าจังหวัดเลย, สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนเลย, มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย, บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมภัตตาคารไทย และ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่เขตเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยังยืน) องค์การมหาชน
ระบุว่า การลงนามครั้งนี้ถือความภาคภูมิใจของจังหวัดเลย ที่หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น จะร่วมกันช่วยส่งเสริม ขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนายกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดเลย ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดเลย “เมืองน่าอยู่เมืองแห่งการท่องเที่ยวการค้าและการลงทุนภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพและผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ให้มีคุณภาพและมาตรฐานและสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาเกษตรพร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าสู่ระดับสากล ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือทั้ง 10 หน่วยงานใรวันนี้ เชื่อว่าจะทำให้จังหวัดพัฒนาในทุกมิติเต็มรูปแบบในอนาคต
ด้านนายนราวิทย์ เปาอินทร์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ภายใต้การกำกับของรัฐ ระบุว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ตลอดจนเกษตรอินทรีย์ต่างชาติกำลังเป็นที่นิยม และเกิดการแข่งขันจำนวนมาก ดังนั้นการร่วมลงนามความร่วมมือกับจังหวัดเลยครั้งนี้ เพื่อต้องการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรจังหวัดเลย ให้ได้มาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ ตามที่สากลกำหนด เพื่อส่งเสริม และยกระดับสินค้าของผู้ผลิตให้มีมาตรฐาน และสามารถขายยังศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในประเทศไทย และส่งออกไปต่างประเทศได้
สำหรับวัตถุประสงค์ของบันทึกของตกลงในวันนี้มีวัตถุประสงค์ ใน 4 เรื่องด้วยกันคือ ส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันให้สินค้าเกษตรของจังหวัดคุณภาพปลอดภัยไร้สารตกค้างต้องห้ามตามแนวทางของเกษตรอินทรีย์, ส่งเสริมสนับสนุนการผลักดันให้ระบบการผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัดเลยมีการดำเนินการอย่างรับผิดชอบทั้งระบบ , ส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการต่อเนื่องใช้ทรัพยากรในการประกอบอาชีพอย่างถูกต้องเหมาะสมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ พัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเลยให้ก้าวไปสู่ความมั่นคงและยังยืน