กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สร้างความมั่นคงในประเทศ มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการของเกษตรกรเพียงพอ

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสถานการณ์การบริโภคในประเทศปี 2566 มีปริมาณ 3.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 3.57 ล้านตัน ในปี 2567 มีผลผลิตภายในประเทศรวม 23,112 ตัน ในปี 2566 และ 22,737 ตัน ในปี 2567 โดยในปี 2566 จำเป็นต้องนำเข้า จำนวนถึง 3.28 ล้านตัน มูลค่า 69,955.10 ล้านบาท สถานการณ์การเพาะปลูกพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลดลง จาก 86,413 ไร่ ในปี 2566 เป็น 84,294 ไร่ ในปี 2567 โดยพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรปลูกคือ พันธุ์เชียงใหม่ 60 สาเหตุที่พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในประเทศลดลง เนื่องจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบกับพืชแข่งขันชนิดอื่น ๆ และขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเกษตรกรมักจะซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าในท้องถิ่น ที่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ จึงต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราสูง ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ประกอบกับพืชตระกูลถั่วมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ผลผลิตต่ำ ไม่มีคุณภาพ เกษตรกรจึงจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาต่ำ

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการการส่งเสริมและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองพันธุ์เกษตรศาสตร์ 80 เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง พื้นที่ดำเนินการ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และจังหวัดลพบุรี โดยมอบหมายให้สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร และกองขยายพันธุ์พืช ร่วมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองพันธุ์เกษตรศาสตร์ 80 ให้ได้ผลผลิตสูงและได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เพื่อขยายผลการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองคุณภาพดีไปยังเกษตรกรผู้ปลูก ผ่านกระบวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเจ้าหน้าที่ ในประเด็นเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการดูแลรักษา และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการจัดทำแปลงเรียนรู้ในพื้นที่ที่มีความพร้อมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ และในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้กองขยายพันธุ์พืชนำเมล็ดพันธุ์ที่จะได้จากแปลงเรียนรู้ไปดำเนินการขยายพันธุ์ต่อด้วยเทคนิค X20 เพื่อเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้มากขึ้น ก่อนจะส่งมอบให้กับสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชนต่อไป

ด้านนางสาววัลภา ปันต๊ะ เกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี มีแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1 แปลง คือ แปลงของนายปกาสิทธิ์ สีสมุทร ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลวังทอง อำเภอโคกเจริญ พื้นที่ 5 ไร่ เริ่มดำเนินการปลูกเมื่อวันที่ 7 – 8 กันยายน 2567 ปัจจุบันต้นถั่วมีอายุ 78 วัน ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ 12 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกไรโซเบียมน้ำก่อนการปลูก และใช้ระบบน้ำหยด พบการเข้าทำลายของโรคใบด่างน้อยกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ ซึ่งคาดหวังว่าแปลงเรียนรู้ดังกล่าว จะทำให้ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพอย่างน้อย 1,500 กิโลกรัม มีชุดข้อมูลการเจริญเติบโตของถั่วเหลืองในช่วงฤดูฝน เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่ และสามารถถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้สนใจได้ รวมทั้งเกิดจากการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลืองในระดับพื้นที่

สำหรับเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์เกษตรศาสตร์ 80 (Glycine max ‘Kasetsart 80’) พัฒนาพันธุ์ โดยภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรค สามารถใช้เครื่องจักรในการปลูก และการเก็บเกี่ยว ผลผลิตไม่ร่วงหล่น เมล็ดติดฝักดี อายุเก็บเกี่ยวปานกลาง 100 – 110 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 350 – 400 กิโลกรัมต่อไร่ และได้รับการรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว