การรถไฟฯ ลงนามสัญญาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย วงเงิน 2.86 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับประสิทธิภาพสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางในภูมิภาคอาเซียน

วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย กับ กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง มูลค่าโครงการ 28,679,000,000 บาท (สองหมื่นแปดพันหกร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านบาท) และร่วมลงนามในข้อตกลงคุณธรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งทางรางระหว่างภูมิภาค รองรับการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย – ลาว – จีน

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย การรถไฟฯ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่) ระยะที่ 2 และคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฯ ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น –หนองคาย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งทางราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว

การรถไฟฯ มีโครงการที่จะพัฒนาทางคู่อย่างต่อเนื่อง ตามแผนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,488 กิโลเมตร โดยทางคู่ระหว่างสถานีขอนแก่น – หนองคายนั้น ถือเป็นการต่อยอดเส้นทางชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น เพื่อเชื่อมโยงกับการบริการขนส่งและโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มความตรงต่อเวลาและความรวดเร็วในการเดินทางด้วยรถไฟ ในรัศมี 500 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ที่สามารถใช้เวลาน้อยลง 1 เท่าตัว รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการเดินทางของประชาชนในอนาคต

สำหรับรูปแบบโครงการดังกล่าวฯ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม และก่อสร้างปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน รวมระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร ประกอบด้วย อาคารสถานี 14 สถานี ที่หยุดรถ 4 แห่ง ลานบรรทุกสินค้า 3 แห่ง พร้อมทั้งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571

“การรถไฟฯ เร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ทั้งโครงข่ายรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ทางคู่ระยะเร่งด่วน ทางคู่สายใหม่ ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูงให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อยกระดับประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางในภูมิภาคอาเซียนต่อไป” ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าว