รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จากมูลนิธิเขมไชย รสานนท์ เพื่อมอบให้โรงพยาบาลปายสำหรับส่งต่อผู้ป่วยยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญ ที่ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง
วันที่ 11 กันยายน 2562 ที่ โรงพยาบาลปาย จ.แม่ฮ่องสอน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พร้อมด้วย นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 1 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรับมอบรถพยาบาล พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 1 คัน จากมูลนิธิเขมไชย รสานนท์ ว่า โรงพยาบาลปาย เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 381 ราย ซึ่งผู้ป่วยบางส่วน จำเป็นต้องได้รับการส่งต่อเพื่อไปรักษายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาทิ ในกลุ่มอุบัติเหตุ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร โรคทางสูติกรรม เนื่องจากอยู่ไกลจากตัวเมืองต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางในการส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลแม่ฮ่องสอน 2 ชั่วโมง 30 นาที โรงพยาบาลนครพิงค์ ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องมีรถพยาบาลที่มีความพร้อม ซึ่งมูลนิธิเขมไชย รสานนท์ ได้เห็นความสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วย สนับสนุนรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 1 คัน สำหรับการส่งต่อผู้ป่วยอย่างปลอดภัยให้ได้รับการรักษาต่อยังโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า
“ผมขอขอบคุณ มูลนิธิเขมไชย รสานนท์ ได้ เห็นความสำคัญและได้บริจาครถพยาบาลสำหรับส่งต่อผู้ป่วยและนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาต่อที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือเท่ากับเป็นการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และ อสม. ที่ให้การดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกล” นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ โรงพยาบาลปาย ทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกวันเฉลี่ยวันละ 2 ราย จากข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2562 ได้ทำการส่งต่อผู้ป่วยยังโรงพยาบาลศรีสังวาล รวม 3,143 ครั้ง โรงพยาบาลนครพิงค์ 4,062 ครั้ง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 2,093 ครั้ง และโรงพยาบาลใกล้เคียง 2,087 ครั้ง รวมจำนวนทั้งหมด 11,385 ครั้ง
นอกจากนี้ บริษัทเอกชนยังได้มอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) แก่โรงพยาบาลปาย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในอำเภอปายทุกแห่ง แห่งละ 1 เครื่อง รวม 12 เครื่องเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและช่วยในการฟื้นคืนชีพ