สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ธ.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 13-15 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออก เฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนผ่านอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้ตอนล่างทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 81% ของความจุเก็บกัก (65,107 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 71% (40,888 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำสูงกว่าระดับควบคุมบน 1 แห่ง ดังนี้ ภาคใต้ : บางลาง

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 22/2567.ลงวันที่ 9 ธ.ค. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 12 – 16 ธ.ค. 67 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ปัจจุบันปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่าต่อเนื่อง มีความเสี่ยงอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเขื่อนด้วย
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

5.การดำเนินการตามมาตรการ: การดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ตามมาตรการที่ 2 สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร พร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
• หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการขุดลอกดินตะกอน เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค-บริโภคและการเกษตร ในพื้นที่ ม.13 บ.เขาแก้ว ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ผลการปฏิบัติงานคิดเป็นร้อยละ 20 มีผู้รับผลประโยชน์ 118 ครัวเรือน ประชาชน 288 คน และดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำหรับ อุปโภค-บริโภค และการเกษตร เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่ วัดสันปู่สี ต.แดนชุมพล อ.สอง จ.แพร่
• กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการเจาะน้ำบาดาลและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล เพื่อรองรับฤดูแล้ง การขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรในพื้นที่โรงเรียนบ้านแซรสะโบว หมู่ที่ 6 ต.ดงรัก อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ