รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีญี่ปุ่นจากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ The Programme for COVID-19 Response Emergency Support มูลค่า 500 ล้านเยน สนับสนุนการเก็บรักษาวัคซีน ตรวจหา ควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 ระหว่างประเทศทั้งในสนามบิน และพื้นที่ชายแดน กระชับความสัมพันธ์สองประเทศด้านสาธารณสุข
วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์จากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ The Programme for COVID-19 Response Emergency Support จาก นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย โดยมี นายซูซุกิ คัทสึยะ หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางพิมพ์วดี โสวรัตนพงศ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทย ขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้อนุมัติการให้ความช่วยเหลือภายใต้แผนงาน The Programme for Crisis Response Emergency Support แก่ประเทศไทย ซึ่งได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวงเงินงบประมาณ 500 ล้านเยน หรือ ประมาณ 114 ล้านบาท โดยเน้นการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีญี่ปุ่น เพื่อการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ยกระดับมาตรการกักตัวและตรวจโควิด 19 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและด่านชายแดน (เมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา) 2.พัฒนาระบบการเก็บรักษาวัคซีน และ 3.พัฒนาระบบการตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในสถานพยาบาล โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในครั้งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่สำคัญคือ ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ควบคู่กับการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนตามแนวชายแดนประเทศไทย เกิดความเชื่อมโยงด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างโรงพยาบาลฝั่งไทยและโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลคู่มิตร (Twin Hospitals) ซึ่งเน้นด้านระบบการส่งตัวผู้ป่วยและการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ที่จะช่วยลดอัตราการระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ชายแดนได้อีกทางหนึ่ง