บริษัท ซีพีแรม จำกัด เดินหน้าพัฒนาด้านอาหารพร้อมรับประทานในประเทศไทย พร้อมเคียงคู่กับการส่งเสริมด้านการสร้างอาชีพในท้องถิ่น ครั้งนี้ ซีพีแรม เปิดโรงงานซีพีแรม จังหวัดลำพูน เป็นโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานที่ใช้นวัตกรรมกระบวนการผลิตอาหารพร้อมรับประทานมาตรฐานโลก หวังรองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นในภาคเหนือ เสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจ และมุ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ในส่วนภูมิภาค พร้อมเดินหน้าต่อเนื่องผลักดันโครงการเกษตรกรคู่ชีวิต หวังเกิดวิถีเกษตรที่ยั่งยืนในชุมชน ต้องการให้เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้ที่แน่นอน โดยมี ลุงหนุ่ย ภานุวัฒน์ วิชัยรัตน์ ผู้ริเริ่มกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะเพรายั่งยืน จังหวัดลำพูน พร้อมนำกลุ่มชาวบ้านกว่า 22 คน ร่วมพลิกฟื้นที่ดินไร้ประโยชน์ สู่แปลงกะเพรากว่า 7 ไร่ ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตัดใบกะเพราส่งขายให้กับโรงงานซีพีแรม จังหวัดลำพูน วันละกว่า 50 กิโลกรัม
จากที่ดินรกร้าง จากพื้นที่ศาลาสวดพระอภิธรรมศพเดิมในชุมชน สู่แปลงกะเพราสร้างรายได้ให้กับชุมชน ลุงหนุ่ย ภานุวัฒน์ วิชัยรัตน์ ผู้ริเริ่มกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะเพรายั่งยืน จังหวัดลำพูน เล่าให้ฟังว่า “เดิมได้ทดลองปลูกพืชชนิดอื่นมาหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จจนเกือบถอดใจ หลังได้รับคำปรึกษาจากหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น และพบที่ดินรกร้างที่บ้านหนองปลาขอ ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน กว่า 7 ไร่ จึงได้ตกลงทำสัญญาเช่ากับพื้นที่ในการพัฒนาเป็นแปลงกะเพรา โชคดีที่มีบริษัท ซีพีแรม จำกัด มาตั้งโรงงานที่จังหวัดลำพูน พร้อมแนะนำการปลูกต้นกะเพราป่าที่มีพัฒนาสายพันธ์ุลักษณะใบเล็ก รสชาติเผ็ด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงได้เริ่มทำแปลงกะเพรา และรวมกลุ่มในชุมชนเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา”
ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เดินหน้าพัฒนาที่ดินผืนนี้ตั้งแต่เริ่มต้นที่ไม่มีไฟฟ้า ปรับปรุงผืนดินให้เหมาะกับการเพาะปลูกต้นกะเพรา โดย ซีพีแรม ให้เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญลงมาให้คำแนะนำตั้งแต่กระบวนการปลูก การตัดแต่ง การคัดแยก การวางโรงเรือนที่เหมาะสม ตลอดจนสอนการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย วางระบบ Sensor ควบคุมการใช้น้ำอัตโนมัติ การบันทึกข้อมูล Online ติดตามควบคุมผลผลิตทำให้วันนี้แปลงกะเพราผืนนี้ก่อเกิดรายได้ให้ชุมชน กลุ่มแม่บ้านที่สามารถตัดใบกะเพราส่งได้ทุกวัน วันละ 40 – 50 กิโลกรัม และ ซีพีแรม ยังการันตีรายได้ในที่ราคาเท่าตลาด หรือสูงกว่าท้องตลาดอีกด้วย วันนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะเพรายั่งยืน จังหวัดลำพูน ได้เริ่มรวมกลุ่มพัฒนาพื้นที่พลิกฟื้นที่ดินปลูกกะเพราไปแล้วที่ 3 – 4 ไร่ ยังเหลืออีก 3 ไร่ ในการพัฒนาให้เกิดรายได้ในอนาคต ซึ่ง ซีพีแรม ยังให้คำปรึกษาแนะนำในด้านอื่น ๆ ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย
ด้าน นายสาธิต แสงเรืองอ่อน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองสายงานยุทธศาสตร์องค์กร บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวถึง โครงการเกษตรกรคู่ชีวิตในพื้นที่จังหวัดลำพูน เราต้องการแบ่งปันองค์ความรู้ ให้คำแนะนำในการเพาะปลูกกะเพรา ให้ความรู้เกษตรกรถึงระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้เกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น เรามุ่งหวังให้ชุมชนสามารถการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งแนวทางของ ซีพีแรม หากโรงงานไปถึงพื้นที่ไหน ซีพีแรมต้องไปสร้างรายได้ ความยั่งยืนให้กับชุมชน ดังนั้น แปลงกะเพราในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซีพีแรม จึงได้ลงพื้นที่ร่วมพัฒนาไปกับเกษตรกร พร้อมนำต้นกล้ากะเพราที่ซีพีแรมได้พัฒนาให้เกิดความเฉพาะตัวมอบให้เกษตรกร โดยมีลุงหนุ่ย ภานุวัฒน์ วิชัยรัตน์ รับมอบนำไปปลูกทั้งสิ้น 5,200 ต้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะเพรายั่งยืน จังหวัดลำพูน
ดังนั้น บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมทาน และชิลล์ฟู้ด เพื่อจำหน่ายในร้าน 7-11 เป็นหลัก ต้องการพัฒนาสินค้าออกมารองรับกับความต้องการ กับกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย เข้าถึงไลฟ์ไสตล์และตามโครงสร้างประชากรในแต่ละพื้นที่ นอกเหนือจากการผลิตสินค้าจัดจำหน่ายแล้ว สิ่งที่เราคำนึงถึงเป็นสำคัญ คือ ชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ที่ซีพีแรมเข้าไปดำเนินธุรกิจโดยรอบพื้นที่เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกับเรา การยกระดับเกษตรกร มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าใบกะเพราถือเป็นสิ่งแรกเริ่มที่ซีพีแรมเข้าไปส่งเสริม ไปพร้อมกับการตั้งโรงงานซีพีแรม จังหวัดลำพูนเมื่อปีที่ผ่านมา จะเห็นได้จากวันแรกที่เกษตรกรผลิตวัตถุดิบใบกะเพราเริ่มต้นที่ 8 กิโลกรัมต่อวัน ปัจจุบันสามารถรองรับการผลิตได้ถึง 50 กิโลกรัมต่อวัน การให้คำปรึกษาแนะนำ เรามีเจ้าหน้าที่ภายใน และกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้องค์ความรู้ ในการพัฒนาแปลงเกษตร พร้อมสิ่งต่าง ๆ ที่จะเพิ่มผลผลิตได้ตามมาตรฐาน ลดต้นทุน สร้างกลุ่มในชุมชนของเกษตรกรในพื้นที่ และเดินหน้าจดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะเพรายั่งยืน” ให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรทำให้มีอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืนในอนาคต
“การส่งเสริมการปลูกกะเพราในพื้นที่ ทำให้ทราบถึงแห่งผลิต ลดปัญหาการเน่าเสีย ผลผลิตปลอดภัยปลอดสาร ก่อนถึงผู้บริโภค ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจที่ซีพีแรมให้ความสำคัญเสมอมา เรียกได้ว่า Supply chain management ด้วยแนวทาง 3S คือ อาหารปลอดภัย Food safety อาหารมั่นคง Food security) และอาหารยั่งยืน Food sustainability“