ประมงลงพื้นที่ จ.อุบลฯ เช็คความฟิตอัศวินสีน้ำเงินหลังส่งลงพื้นที่ 19 จังหวัด พร้อมสั่งทีมไกรทองเฝ้าจระเข้หลุด และช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชม.

วันที่  10 กันยายน 2562 นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีตรวจเยี่ยมฟาร์มไชยยนต์ หาทรัพย์ ฟาร์มเลี้ยงจระเข้รายใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของบ่อเพาะเลี้ยงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมประมงกำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ตลอดจนได้มอบสิ่งของพร้อมพบปะพูดคุยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับประชาชนผู้ประสบภัย

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า จากปัญหาอุทกภัยซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมจนถึงปัจจุบันและคาดการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบยาวนานไปอีกระยะหนึ่งสร้างความเดือดร้อน ให้กับประชาชนรวมถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก โดยรายงานพื้นที่ความเสียหายด้านการประมงล่าสุดพบเพิ่มขึ้นเป็น 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ และจังหวัดกระบี่พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยประมาณ 32,241.58 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายจำนวน 27,762 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 450 ล้านบาท  (ข้อมูล ณ วันที่10 ก.ย. 62)

นอกจากด้านการสำรวจความเสียหายภาคการประมงแล้ว ทางกรมประมงยังได้รับข้อร้องเรียน และสอบถามจากประชาชนเกี่ยวกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยกรณีที่อาจมีจระเข้หลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางอธิบดีกรมประมงได้คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนจึงได้มีการสั่งการให้ทางสำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมให้กับฟาร์มจระเข้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมก่อนที่จะเกิดปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้เมื่อเกิดอุทกภัยในพื้นที่ 19 จังหวัด ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวังในการเฝ้าระวังให้มากขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้

กรมประมงยังได้มีการจัดตั้งเครือข่ายไกรทองเพื่อเฝ้าระวังค้นหาและจับจระเข้หากได้รับแจ้งว่าพบจระเข้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเครือข่ายดังกล่าวมีทั้งหมด 8 ศูนย์ และ 43 เครือข่ายย่อยทั่วประเทศ และมีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานจำนวน 80 นาย โดยทุกนายล้วนแต่มีความชำนาญในการจับจระเข้ในธรรมชาติและได้รับการอบรมเป็นอย่างดี

ปัจจุบันในพื้นที่ 77 จังหวัดของไทยพบว่ามีผู้ประกอบการการเพาะเลี้ยงจระเข้จำนวน 76 จังหวัด มีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้จำนวนทั้งสิ้น 1,067 ฟาร์ม โดยในพื้นที่ประสบอุทกภัย 19 จังหวัดนั้นพบว่ามีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้รวม 284 ฟาร์ม และสำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้

พบรายงานว่าจังหวัดอุบลฯมีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ทั้งหมดจำนวน 11 ฟาร์ม ทำเลที่ตั้งฟาร์มส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ดอนห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มีบ่อและระบบการเลี้ยงเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมประมง โดยเมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยพบว่าผู้ประกอบการมีความสามารถในการเฝ้าระวังป้องกันจระเข้หลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานการณ์น้ำในบางพื้นที่ยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางของประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงขอฝากย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้เพิ่มความระมัดระวังในการควบคุม ดูแล จระเข้ในครอบครองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ โดยขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  1. ตรวจสอบฟาร์มโดยเฉพาะบ่อเลี้ยงจระเข้ให้มีความแข็งแรงปลอดภัยอยู่เสมอ
  1. คัดแยกจระเข้ที่เลี้ยงในแต่ละบ่อให้มีขนาดเดียวกัน เพื่อป้องกันมิให้จระเข้ที่มีขนาดเล็กกว่าหลุดรอดลงท่อน้ำทิ้ง กรณีที่มีการทำความสะอาดบ่อเลี้ยง
  1. ปล่อยจระเข้ลงเลี้ยงในอัตราที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป เพื่อไม่ให้จระเข้เกิดความเครียดซึ่งอาจจะทำให้จระเข้ป่วยได้ และเพื่อความสะดวกในการตรวจเช็คจำนวนจระเข้
  2. หากฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้รายใดมีความเสี่ยงต่อการหลุดรอดของจระเข้ ขอให้เจ้าของฟาร์มดำเนินการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย และทำการแก้ไขปรับปรุงฟาร์มให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการเพาะเลี้ยง
  3. ขอให้ผู้ประกอบการติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  4. จับจระเข้ที่ได้ขนาดออกขายเพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของจระเข้ในบ่อเลี้ยง

สุดท้ายนี้ ฝากถึงพี่น้องประชาชนหากพบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติโปรดแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อกรมประมง ได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0 2562 0600 หรือหากเกษตรกรประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือต่าง ๆ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/สำนักงานประมงจังหวัด/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษกลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0 2558 0218 และ 0 2561 4740 ๏

 

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์